ทำไม GDP จีนโตได้ 5.2% โดยไม่ต้องยิง "บาซูก้าการคลัง”

20 ม.ค. 2567 | 03:20 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 03:33 น.

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำไมเศรษฐกิจจีนยังโตต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องละเลงงบไปกระหน่ำอัดฉีดแบบเหวี่ยงแห หรือแจกเงินให้ประชาชน เอาไปใช้แบบฟรี ๆ อย่างที่ประเทศอื่นชอบทำ

ทั้งนี้ใจความสำคัญระบุว่า ภายใต้รัฐบาลจีนชุดปัจจุบัน  จีนไม่อัดฉีดบาซูก้าการคลัง ไม่แก้ปัญหาแบบเหวี่ยงแห  สะเปะสะปะ แต่จะเน้นมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ โดยยังคงยึดโยงกับเป้าหมายระยะยาว เช่น  การฟื้นฟูชนบท และมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวเน้นพลังงานสะอาด   โดยโมเดลเศรษฐกิจสีจิ้นผิง (Xinomics) ไม่เน้นเติบโตแบบฉาบฉวย แต่เน้นมั่นคง

  • สำหรับตัวอย่างมาตรการส่งเสริมการบริโภคแบบจีน มีดังนี้

-มาตรการส่งเสริมการซื้อและขยายการบริโภครถยนต์พลังงานใหม่ (รถยนต์ EV)

-สนับสนุนความต้องการบ้าน/ที่พักอาศัย และกระตุ้นกิจกรรมตกแต่งบ้านและซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า

-กระตุ้นการบริโภคการบริการด้านอาหาร

-กระตุ้นสร้างการบริโภคเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

-ส่งเสริมระบบหยุดพักงานแบบไม่หักเงินเดือน

-ส่งเสริมการบริโภคเพื่อการบันเทิง การกีฬา งานนิทรรศการ

-เร่งขยายการบริโภคเพื่อบริการสุขภาพ

-ออกมาตรการส่งเสริมการบริโภคในชนบท

-ส่งเสริมการส่งสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่ชนบท

-ปรับปรุงระบบอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ในชนบท

-ผลักดันการส่งสินค้าที่มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษไปท้องถิ่น และพัฒนาการท่องเที่ยวชนบทอย่างจริงจัง

ฯลฯ

ที่สำคัญ ปี 2566 นายกฯ หลี่เฉียงเป็นนายกฯ จีนคนใหม่ครั้งแรก จำเป็นต้องทุ่มเทสร้าง “ผลงานชิ้นโบว์แดง” ในปีแรกให้ออกมาสวยงาม  จึงไม่มีวันยอมให้พลาดเป้า

ในที่สุด ผลงานปีแรกของนายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่ ก็เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้  ซึ่งนายกฯ หลี่เฉียงยอมรับตั้งแต่ต้นปี 2566 ว่า “ไม่ง่ายที่จะให้จีนเติบโต 5% ตามเป้าหมาย แต่มั่นใจ และต้องทุ่มเทให้มากกว่าเดิม แม้จะต้องเหนื่อยกว่าเดิมเป็น 2 เท่า”

อย่างไรก็ดี ในปีมังกร 2567 นี้ เศรษฐกิจจีนยังคงมีปัญหาค้างคาอีกหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ไขต่อไป ทั้งปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่จบ ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่น และปัญหาธนาคารเงา เป็นต้น

FB ดร.อักษรศรี  พานิชสาส์น