ประเด็นร้อนเศรษฐกิจจีนดิ่งหัวจริงหรือ? (จบ)

06 ก.ย. 2566 | 07:22 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2566 | 07:32 น.

ประเด็นร้อนเศรษฐกิจจีนดิ่งหัวจริงหรือ? (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3920

ผมชวนพูดคุยเรื่องนี้ลากยาวมาหลายตอน แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังมีอีกหลายประเด็นร้อนให้พูดถึงกันอยู่ เราไปถกกันต่อเลยครับ ...

“วัยรุ่นเตะฝุ่น” นับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายกังวลใจ ทั้งนี้ จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า อัตราการว่างงานของคนเมืองก็อาจดูสูง หากเทียบกับมาตรฐานของจีนในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็มีแนวโน้มลดต่ำลง 

 

และหลายคนยังนำเอาตัวเลขอัตราการว่างงานของคนเมือง ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี ที่ทะยานแตะระดับกว่า 20% ไปกล่าวอ้าง จนทำให้หลายฝ่ายเข้าใจผิดคิดว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นอัตราการว่างงานโดยรวมของจีน!

หากเราศึกษาถึงพฤติกรรมของวัยรุ่นยุคใหม่ ก็อาจรู้สึกได้ว่า คนรุ่นใหม่มีระดับการเป็นผู้ประกอบการสูงมาก โดยเลือกที่จะหาลู่ทางและโอกาสการเริ่มต้นธุรกิจในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสตาร์ตอัพ 

ยิ่งเมื่อผนวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อันเนื่องจากวิกฤติโควิดในช่วง 3 ปีหลัง เราจึงเห็นอัตราการว่างงานของวัยรุ่นในระดับสองหลักในหลายประเทศทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร คอสตาริกา ชิลี และ โคลัมเบีย

ในกรณีของจีน ผมรู้สึกว่า วัยรุ่นจีนมีระดับความเป็นผู้ประกอบการสูงกว่าของชาติอื่นเป็นทุนเดิมอีกด้วย และจีนก็พึ่งผ่านพ้นการปิดประเทศที่ยาวนานในช่วงวิกฤติโควิด ทำให้วัยรุ่นจีน “เต็มใจ” ที่จะ “ว่างงาน” เพื่อรอดูทิศทางการเปลี่ยนแปลงของตลาดไปอีกระยะหนึ่ง

แต่ที่น่าสนใจก็คือ เด็กจีนยุคใหม่นับว่าไม่ธรรมดาจริงๆ เพราะทั้งคนที่มีงานทำ และมองหางานใหม่ ต่างพยายามพัฒนาความสามารถของตนเองอยู่ตลอดเวลา

จากสถิติพบว่า วัยรุ่นจีนหันมาให้ความสนใจในการศึกษาต่อ MBA และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ขณะเดียวกัน ราว 1 ใน 3 ของคนเหล่านี้ ได้เริ่มรับเอาเทคโนโลยีเอไอ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและการดำรงชีวิตกันแล้ว สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

ซึ่งนั่นหมายความว่า คนจีนรุ่นใหม่จะไม่เพียงมีเงินทุน ความรู้ เครือข่ายธุรกิจ และการสนับสนุนของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังจะมีเทคโนโลยียุคใหม่ที่มาเป็นเสมือน “ที่ปรึกษา” ที่รอบรู้สำหรับการให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจ

จีนยังเผชิญปัญหาด้านการค้าระหว่างประเทศด้วยไม่แพ้กัน โดยจีนไม่สามารถโมเมนตัมของการเติบโตดังเช่นในอดีตไว้ได้ กล่าวคือ การส่งออกของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ขยายตัวเพียง 3.7% ขณะที่การนำเข้าลดลง -0.1% ของช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าฯ ของจีนยังคงเติบโตในระดับที่น่าพอใจในบางกลุ่มประเทศ อาทิ ประเทศตามแนวหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 10% และอาเซียน 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี พอตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในเดือนที่ 7 ประกาศออกมาสู่สาธารณะ ก็สร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง การค้าระหว่างประเทศของจีนชะลอตัวลงต่อเนื่อง 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) 
ขณะที่มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของจีนก็ดิ่งวูบลงถึงราว -17% และ -12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ 

สิ่งนี้สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจและตลาดโลกที่ชะลอตัวลง และความท้าทายจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ 

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักของจีนในช่วงหลายปีหลัง มีมูลค่าการนำเข้าลดลงถึง -25% ขณะที่จีนก็นำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงในระดับสูงเช่นกัน สิ่งนี้อาจสะท้อนถึงระดับ “การพึ่งพา” และ “การตอบโต้” ทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่มีอยู่สูง

ยิ่งในระยะหลัง จีนเองก็ดูเหมือนจะ “ร่วมมือ” กับความพยายามของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรใน “การแยกขั้ว” โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนก็แสดงท่าทีสนับสนุนกับการปลดรายชื่อกิจการของจีน จากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ 

และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนก็ออกกฎหมายหลายฉบับที่ “ออกโรง” ปกป้องคุ้มครองคนจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศ และ “เปิดช่อง” ให้สามารถตอบโต้บุคคล กิจการ และองค์การระหว่างประเทศต่อการกระทำใดๆ ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเสถียรภาพความมั่นคง เศรษฐกิจ และ สังคมของจีน กฎหมายเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่จีนมีกฎหมายที่ “ก้าวข้าม” เส้นพรมแดนจีนออกสู่ต่างประเทศ

นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอด BRICS ณ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา จีนร่วมกับรัสเซียยังพยายามจับมือกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น เพื่อคานอำนาจกับกลุ่ม G7 โดย “ปลุกเร้า” การขยายความร่วมมือของกลุ่ม BRICS ในหลายด้าน อาทิ การเพิ่มจำนวนสมาชิก และการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ

เหล่านี้อาจเป็นปรากฏการณ์ที่ตอกย้ำการแยกขั้ว ที่ถ่างกว้างมากขึ้น ดังนั้น หากเราไม่อาจพัฒนาเป็น “กระดานดีด” ด้านการผลิตให้แก่สองประเทศได้ ไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนในระยะยาว

เพราะนั่นอาจหมายถึง เม็ดเงินลงทุนและกำลังซื้อมหาศาลของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่หดหายไป และเป็นสัญญาณเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในระยะยาว รวมทั้งยังจะเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลชุดใหม่ของไทยในการพลิกฟื้นสถานการณ์การส่งออกของไทย

กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็ต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และคณะผู้แทนการค้าลุยตลาดต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกระยะสั้น ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในเวทีโลก 

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ผมเห็นนักวิชาการของไทยหลายท่านเดินตามข้อมูลและความเห็นของสื่อตะวันตก ที่ตีข่าวการชะลอตัวทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยประเมินว่า จีนจะพลาดเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ หรืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะไถลลงไปถึงระดับ 3% ซึ่งก็ทำเอาผมมึนไปกับบทสรุปนี้ไปด้วย

ผู้นำของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในภูมิภาคเอเซียตะวันออก อย่างญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ก็นัดหารือในประเด็นความมั่นคงทางการทหาร ที่แคมป์เดวิด มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ หรือ แม้กระทั่งการเดินทางเยือนไต้หวัน ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ แน่นอนว่าการ

กระทำเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันในปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ต่อจีนอย่างต่อเนื่อง
นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของ “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่พยายามมุ่ง “ดิสเครดิต” จีน และ “กลบข่าว” ความสำเร็จในการประชุมสุดยอด BRICS! เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่แท้จริง ไม่ได้ย่ำแย่ขนาดไร้หาทางออก และรัฐบาลจีนก็ “มองข้าม” ไม่ยอมหลงไปตามกระแสดังกล่าวแต่อย่างใด

และอาจเป็นไปได้ว่า การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า รัฐบาลจีนไม่มีความพร้อมและสรรพกำลังมากพอ หรือไม่คิดจะทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

แต่ผมเชื่อมั่นว่า หากไม่มีวิกฤติใหญ่ครั้งใหม่เข้ามา เศรษฐกิจจีนจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน จีนยังมี “หน้าตัก” ใหญ่มากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ 

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่า หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ที่คาดว่าจะเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุมสำคัญ อาทิ การประชุมสุดยอดอาเซียน และ G20 จะไม่ยอม “เสียเครดิต” ในปีแรกของการรับตำแหน่งแบบง่ายๆ

ประการสำคัญ ผมยังคิดต่อว่า สื่อตะวันตกและผู้คนจำนวนมากยังขาดความเข้าใจใน “ศักยภาพ” และ “มือที่มองไม่เห็น” ทางเศรษฐกิจของจีนอยู่อีกมาก

                         ประเด็นร้อนเศรษฐกิจจีนดิ่งหัวจริงหรือ? (จบ)

แต่รัฐบาลจีนก็ไม่อาจนิ่งนอนใจ จีนต้อง “เดินหน้า” มาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ ผมประเมินว่า จีนยังจะสามารถลดสัดส่วนสำรองเงินสดธนาคารพาณิชย์ และลดอัตราดอกเบี้ย 0.1% ได้อีก 2 ครั้งเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและลดค่าใช้จ่ายทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ 

การเสริมสร้างภาพลักษณ์ในสายตาของชาวโลก และใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเซี่ยนเกมส์ ณ นครหังโจว ให้ขยายผลในเชิงบวกต่อสินค้าและบริการของจีนในตลาดต่างประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่จีนในวงกว้าง

จีนให้ความสำคัญกับงานนี้มาก ถึงขนาด สี จิ้นผิง ผู้นำจีนจะไปเป็นประธานในพิธีเปิด และต้อนรับแขกวีไอพีจากจีน และต่างประเทศด้วยตนเอง แต่หลายคนกำลังรอลุ้นกันว่า จีนจะประกาศเปิดตัว “เงินหยวนดิจิตัล” ให้ชาวต่างชาติได้สัมผัสในงานใหญ่นี้อย่างไร

นอกจากนี้ ในช่วงหลายเดือนที่เหลืออยู่ของปีนี้ จีนยังสามารถใช้กลไกและทรัพยากรที่มีอยู่มากมาย และวิธีการที่สร้างสรรค์ในการคลี่คลายวิกฤติและพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจได้

ยกตัวอย่างเช่น ในการแก้ไขวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ หากรัฐบาลกลางและท้องถิ่นของจีนคุยกันลงตัว จีนก็อาจปลดล็อกวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และยืดอายุสินเชื่อออกไป ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน 

รัฐบาลจีนยังอาจ “ไฟเขียว” การปล่อยสินเชื่อแก่กิจการอสังหาริมทรัพย์ในโครงการที่มีศักยภาพ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์การขาดกระแสเงินสด และยังอาจเพิ่มอุปสงค์ครั้งใหม่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนควบคู่กันไป 

อาทิ การ “เดินหน้า” การพัฒนาชุมชนเมืองระลอกใหม่ การปรับลดสัดส่วนเงินดาวน์แก่ผู้ซื้อบ้าน การออกมาตรการกระตุ้นการซื้อ “บ้านหลังแรก” และ การปรับปรุง “บ้านเดิม” รวมทั้งการผ่อนคลายเงื่อนไขการซื้อบ้านหลังที่สองในหัวเมืองใหญ่

เราคงต้องติดตามกันต่อว่า รัฐบาลจีนจะปล่อยมาตรการเด็ดอะไรออกมาอีกบ้าง และจะสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ อย่างไร ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน