กทม.วาง 3 แนวทางบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าแล้งภายในสวนป่าเบญจกิติ

20 ม.ค. 2567 | 08:32 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 08:40 น.

กทม.วาง 3 แนวทางบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าแล้งภายในสวนป่าเบญจกิติ เพิ่มขนาดเครื่องสูบ สลับทิศทางเครื่องสูบ สร้างโรงสูบน้ำพร้อมเดินท่อขนาดใหญ่ใต้ดิน

 

เมื่อวันที่20 ม.ค. 67 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำภายในสวนช่วงหน้าแล้ง บริเวณสวนเบญจกิติ เขตคลองเตย โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตคลองเตย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักการระบายน้ำ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำภายในสวนเบญจกิติ โดยได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้ 1.เพิ่มขนาดเครื่องสูบน้ำ บริเวณน้ำตก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำที่สูบเข้าจากคลองไผ่สิงห์โต โดยเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ P1 ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากเครื่องสูบเดิมที่ออกแบบไว้มีขนาดเล็กไป ทำให้น้ำไหลไปไม่ถึง wetland หน้าอาคารกีฬา ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการรั่วไหล พืชน้ำส่วนใหญ่บริเวณนั้นจึงแห้งตาย

จักกพันธุ์ ผิวงาม และคณะ

 

สำหรับ wetland บริเวณที่เกิดน้ำรั่วไหล จากการตรวจสอบพบว่าไม่สามารถอุดรอยรั่วได้ทั้งหมด เนื่องจากมีจุดที่รั่วจำนวนมากและอยู่ใต้ดินทำได้เพียงเพิ่มปริมาณน้ำจากต้นทางให้มากพอที่จะชดเชยกับน้ำที่รั่วออกไป เพื่อให้คงเหลือน้ำพอหล่อเลี้ยงพืชน้ำในบริเวณนี้ 2.สลับทิศทางเครื่องสูบน้ำ

ให้สามารถสูบน้ำเข้าจากคลอง และขยายบ่อพัก ซึ่งเครื่องสูบน้ำในจุดที่ 2 นี้ เดิมออกแบบไว้เพื่อสูบน้ำออกจากสวน เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ในสถานการณ์จริงพบว่าในวันที่มีฝนตกหนักเป็นเวลานาน บ่อน้ำ และ wetland ยังสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลงพื้นที่

จึงทำการสลับให้เครื่องสูบ P2 นี้ ใช้สูบน้ำจากคลองเข้า wetland ของสวน ผ่านพืชบำบัดน้ำแล้วไหลเข้าบ่อ 1-4 ตามระบบเดิมที่ออกแบบไว้ และ 3.การสูบน้ำจากสระใหญ่เข้าสู่บ่อ 3 ของสวนป่า เนื่องจากน้ำในคลองไผ่สิงห์โตมีค่าความเค็มเกินกำหนด ในกรณีที่น้ำในคลองไผ่สิงห์โตมีค่าความเค็มสูงเกินกว่าจะสูบเข้ามาใช้ในสวนทางปั๊ม P1 และ P2 ได้ ทางสวนจะสูบน้ำจากสระใหญ่มาเติมเข้าบ่อ 3 ของสวนป่า

แต่เนื่องจากท่อที่มีอยู่ในปัจจุบันมีขนาดเล็ก และต้องวางพาดผ่านถนนทางวิ่ง ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำได้ตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงสูบน้ำ พร้อมเดินท่อใต้ดินให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถนำน้ำเข้ามาเติมได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมประสานสำนักการระบายน้ำ พิจารณาดำเนินการตามแนวทางที่ได้หารือร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำภายในสวนป่าช่วงหน้าแล้ง บริเวณสวนเบญจกิติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

แผนบริหารจัดการน้ำในสวนเบญจกิติของกทม.