หากใครเดินทางผ่านไปผ่านมาบริเวณถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร จะเห็นความร่มรื่น จากสวน เบญจกิติ สวนสาธารณะขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ภายในบริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ข้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อาณาจักรสีเขียว ของคนเมืองที่ถูกโอบล้อมไปด้วยตึกสูง ย่านพาณิชยกรรมทันสมัย อย่างไรก็ตามหาก มีการพัฒนา ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ครบทุกเฟส ที่นี่จะกลายเป็นผืนป่าอันกว้างใหญ่ กลางใจเมือง แห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย และถูกยกระดับให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ระดับโลกก็ว่าได้
การพัฒนาสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” รวมเนื้อที่450ไร่ กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดสร้างและการยาสูบแห่งประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง มีการออกแบบสวนสาธารณะ เป็น 2 ส่วน คือ สวนน้ำ เนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ และสวนป่า เนื้อที่ประมาณ 320 ไร่ โดยในปี 2547 กรมธนารักษ์ได้จัดสร้างสวนน้ำ “เบญจกิติ” และในปี 2559 ได้ดำเนินการจัดสร้างสวนป่าระยะที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ และได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาบริหารจัดการแล้ว
เมื่อวันที่17 ธันวาคม2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกส่งมอบ – รับมอบ สวนป่า "เบญจกิติ" ระยะที่ 2 - 3 บางส่วน ระหว่างกองทัพบกกับกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์กับกรุงเทพมหานคร ถนนพระรามที่ 4 เขตคลองเตย กรุงเทพเทพมหานคร ซึ่งกองทัพบก ได้ก่อสร้างพื้นที่ที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 160 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา เสร็จเรียบร้อย
ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย ภายหลังการเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบ สวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 บางส่วนฯ นายกรัฐมนตรีได้เดินไปยังจุดทางเดินลอยฟ้าเพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 และชมทัศนียภาพโครงการโดยรวมด้วย
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างเป็นงานปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์อาคารกีฬา และส่วนงานสวนที่เหลือมีกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้มีช่วงเวลาเตรียมจัดงานเปิดโครงการฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 และจะได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พอใจภาพรวมของการดำเนินการ พร้อมสอบถามภาพรวมการใช้พื้นที่โดยแนะนำให้ศึกษารูปแบบ การจัดแต่งสวนของต่างประเทศนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ภายในสวนเบญจกิติ เพื่อให้เกิดความสวยงามยิ่งขึ้น รวมทั้งเด็กและเยาวชนจะได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาระบบนิเวศและธรรมชาติ
นายกรัฐมนตรียังแนะนำให้ปลูกต้นทองกวาวและจามจุรี ซึ่งเป็นต้นไม้มีประสิทธิภาพทั้งการสร้างออกซิเจน ลดอุณหภูมิ และฟอกอากาศได้ดีด้วยนอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังให้พัฒนาสวนเบญจกิติเชื่อมกับสวนลุมพินี ด้วยสะพานเขียว ที่กทม.อยู่ระหว่างก่อสร้าง และจะเปิดให้ยลโฉมพักผ่อนออกกำลังกาย ภายในปี2565
ย้อนไปก่อนหน้านี้ สวนแห่งนี้ เรียกว่า “วนเบญจกิติ” เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ "บึงยาสูบ" ขนาด 200x800 เมตร ที่เกิดจากการขุดดินถมที่ บริเวณอาคารโรงงานยาสูบ โครงการสวนสาธารณะนี้เป็นส่วนของโครงการพัฒนาพื้นที่ทดแทนโรงงานยาสูบระยะที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ที่ให้ย้ายโรงงานยาสูบออกไปนอกกรุงเทพมหานคร และกลายเป็นสวนป่าขนาดใหญ่ในปัจจุบัน