ต่างชาติลงทุนไทยปี 66 กว่า 1.3 แสนล. ญี่ปุ่นแชมป์ ตั้งธุรกิจใหม่พุ่งรอบ 10 ปี

23 ม.ค. 2567 | 06:14 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2567 | 06:47 น.

กรมพัฒน์ เผยปี 66 ต่างชาติหอบเงินลงทุนไทยตาม พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ 1.3 แสนล้าน ญี่ปุ่นเบอร์ 1 ขณะนักลงทุนไทยแห่ตั้งธุรกิจใหม่ 8.5 หมื่นราย สุงสุดรอบ 10 ปี ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 5.6 แสนล้านบาท ชี้ปี 67 ทิศทางเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง หนุนไทย-เทศเดินหน้าลงทุนเพิ่ม

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ได้ใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย DBD DataWarehouse + วิเคราะห์และประมวลผลภาพรวมการลงทุนของคนไทยและชาวต่างชาติตลอดปี นำเสนอออกมาเป็น “ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ในส่วนของต่างชาติได้นำเงินเข้ามาลงทุนในไทย ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 แตะ 1.3 แสนล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยม ได้แก่ บริการรับจ้างผลิต บริการด้านคอมพิวเตอร์ และบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการ โดยนักลงทุนญี่ปุ่นครองแชมป์อันดับ 1 ทั้งจำนวนนักลงทุนและเงินที่นำเข้ามาลงทุน

ขณะที่นักลงทุนไทยจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปีที่ผ่านมากว่า 8.5 หมื่นราย ซึ่งเป็นยอดการจัดตั้งธุรกิจสูงสุดในรอบ 10 ปี (2557 - 2566) ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 5.6 แสนล้านบาท 3 ประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดในปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง  คาดในปีนี้การจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ในไทยจะแตะ 9.5 หมื่นราย และคาดจะมีต่างชาตินำเงินเข้าลงทุนในไทย ทะลุ 1.4 แสนล้านบาท 

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำข้อมูลของปีที่ผ่านมาจากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย DBD DataWarehouse + มาทำการวิเคราะห์และประมวลผลภาพรวมการลงทุนในประเทศ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจประเทศในสายตานักลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมทั้ง นักลงทุนสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาดก่อนตัดสินใจลงทุน ทำให้เกิดความมั่นใจและพร้อมลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง  

ทั้งนี้ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 667 ราย เงินลงทุนรวม 127,532 ล้านบาท จ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 439 ราย

ต่างชาติลงทุนไทยปี 66 กว่า 1.3 แสนล. ญี่ปุ่นแชมป์ ตั้งธุรกิจใหม่พุ่งรอบ 10 ปี

  • 10 ประเทศที่เป็นที่สุดของการลงทุนในประเทศไทย

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ทั้งจำนวนนักลงทุนและจำนวนเงินลงทุน โดยมีนักลงทุนจำนวน 137 ราย (20.5 %) เงินลงทุนรวม 32,148 ล้านบาท (25.2%)

อันดับที่ 2 สิงคโปร์                     นักลงทุน 102 ราย (15.3%)         ทุน 25,405 ล้านบาท (19.9%)

อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา             นักลงทุน 101 ราย (15.1%)         ทุน 4,291 ล้านบาท (3.4%)

อันดับที่ 4 จีน                             นักลงทุน 59 ราย (8.9%)             ทุน 16,059 ล้านบาท (12.6%)

อันดับที่ 5 ฮ่องกง                       นักลงทุน 34 ราย (5.1%)             ทุน 17,325 ล้านบาท (13.6%)

อันดับที่ 6 เยอรมนี                      นักลงทุน 26 ราย (3.9%)            ทุน 6,087 ล้านบาท (4.8%)

อันดับที่ 7 สวิตเซอร์แลนด์          นักลงทุน 23 ราย (3.5%)             ทุน 2,960 ล้านบาท (2.3%)

อันดับที่ 8 เนเธอร์แลนด์              นักลงทุน 20 ราย (3.0%)             ทุน 911 ล้านบาท (0.7%)

อันดับที่ 9 สหราชอาณาจักร       นักลงทุน 19 ราย (2.9%)             ทุน 433 ล้านบาท (0.3%)

อันดับที่ 10 ไต้หวัน                     นักลงทุน 18 ราย (2.7%)              ทุน 1,125 ล้านบาท (0.9%)

  • 10 ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย

อันดับที่ 1 บริการรับจ้างผลิต         จำนวน 136 ราย (20.4%)           ทุน 42,644 ล้านบาท (33.4%)

อันดับที่ 2 บริการด้านคอมพิวเตอร์ จำนวน 68 ราย (10.2%)              ทุน 1,434 ล้านบาท (1.1%)

               (ให้ใช้สิทธิ์โปรแกรม แอปพลิเคชัน/พัฒนาซอฟต์แวร์ / e-Commerce)

อันดับที่ 3 บริการให้คำปรึกษา       จำนวน 62 ราย (9.3%)                 ทุน 7,803 ล้านบาท (6.1%)

               แนะนำ และบริหารจัดการ

อันดับที่ 4 ค้าส่งสินค้า                 จำนวน 58 ราย (8.7%)                 ทุน 7,873 ล้านบาท (6.2%)

อันดับที่ 5 บริการทางวิศวกรรม     จำนวน 46 ราย (6.9%)                 ทุน 2,756 ล้านบาท (2.2%)

อันดับที่ 6 บริการให้เช่า               จำนวน 45 ราย (6.8%)                 ทุน 16,096 ล้านบาท (12.6%)

               (สินค้า/ที่ดิน/อาคาร)

อันดับที่ 7 ค้าปลีกสินค้า               จำนวน 41 ราย (6.2%)                 ทุน 1,635 ล้านบาท (1.3%)

อันดับที่ 8 บริการทางการเงิน        จำนวน 23 ราย (3.5%)                 ทุน 6,805 ล้านบาท (5.3%)

               (สินเชื่อ/ให้กู้/รับค้ำประกันหนี้)

อันดับที่ 9 คู่สัญญาเอกชน            จำนวน 22 ราย (3.3%)                 ทุน 689 ล้านบาท (0.5%)

               (ขุดเจาะปิโตรเลียม/ก่อสร้างโครงการ)

อันดับที่ 10 นายหน้า                   จำนวน 20 ราย (3.0%)                 ทุน 1,697 ล้านบาท (1.3%)

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 84 ราย (14%) (ปี 2566 อนุญาต 667 ราย / ปี 2565 อนุญาต 583 ราย) แม้มูลค่าการลงทุนจะลดลง 1,242 ล้านบาท (1%) (ปี 2566 ลงทุน 127,532 ล้านบาท / ปี 2565 ลงทุน 128,774 ล้านบาท) แต่มีการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 1,592 ราย (30%) (ปี 2566 จ้างงาน 6,845 คน / ปี 2565 จ้างงาน 5,253 คน)

ต่างชาติลงทุนไทยปี 66 กว่า 1.3 แสนล. ญี่ปุ่นแชมป์ ตั้งธุรกิจใหม่พุ่งรอบ 10 ปี

  • 10 ประเทศที่เป็นที่สุดของการลงทุนในพื้นที่ EEC ของประเทศไทย

ปี 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 134 ราย (20%) ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย มูลค่าการลงทุน จำนวน 38,613 ล้านบาท (30%) ของเงินลงทุนทั้งหมด

อันดับที่ 1 ญี่ปุ่น                         นักลงทุน 44 ราย (32.8 %)           ทุน 7,053 ล้านบาท (18.3%)

อันดับที่ 2 จีน                            นักลงทุน 30 ราย (22.4%)             ทุน 4,128 ล้านบาท (10.7%)

อันดับที่ 3 ฮ่องกง                       นักลงทุน 10 ราย (7.5%)              ทุน 14,573 ล้านบาท (37.6%)

อันดับที่ 4 สิงคโปร์                     นักลงทุน 8 ราย (5.9%)                ทุน 3,653 ล้านบาท (9.4%)

อันดับที่ 5 สหรัฐอเมริกา              นักลงทุน 7 ราย (5.2%)                ทุน 65 ล้านบาท (0.1%)

อันดับที่ 6 เกาหลีใต้                    นักลงทุน 7 ราย (5.2%)                ทุน 331 ล้านบาท (0.8%)

อันดับที่ 7 ไต้หวัน                       นักลงทุน 6 ราย (4.4%)                ทุน 743 ล้านบาท (1.9%)

อันดับที่ 8 สวิตเซอร์แลนด์           นักลงทุน 5 ราย (3.7%)                ทุน 714 ล้านบาท (1.8%)

อันดับที่ 9 ลักเซมเบิร์ก                นักลงทุน 3 ราย (2.2%)                ทุน 1,453 ล้านบาท (3.7%)

อันดับที่ 10 นอร์เวย์                     นักลงทุน 2 ราย (1.4%)                ทุน 376 ล้านบาท (0.9%)

  • 10 ประเภทธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนประกอบธุรกิจในพื้นที่ EEC

อันดับที่ 1 บริการรับจ้างผลิต         จำนวน 58 ราย (43.2%)               ทุน 17,662 ล้านบาท (45.7%)

อันดับที่ 2 บริการให้เช่า               จำนวน 17 ราย (12.6%)               ทุน 13,522 ล้านบาท (35%)

               (สินค้า/ที่ดิน/อาคาร)

อันดับที่ 3 ค้าส่งสินค้า                 จำนวน 11 ราย (8.2%)                 ทุน 3,080 ล้านบาท (7.9%)

อันดับที่ 4 บริการทางวิศวกรรม     จำนวน 10 ราย (7.4%)                 ทุน 93 ล้านบาท (0.2%)

อันดับที่ 5 ค้าปลีกสินค้า               จำนวน 7 ราย (5.2%)                   ทุน 844 ล้านบาท (2.1%)

อันดับที่ 6 บริการให้คำปรึกษา       จำนวน 5 ราย (3.7%)                   ทุน 192 ล้านบาท (0.5%)

 แนะนำ และบริหารจัดการ

อันดับที่ 7 บริการทางการเงิน        จำนวน 4 ราย (2.9%)                   ทุน 1,589 ล้านบาท (4.1%)

อันดับที่ 8 บริการติดตั้ง ซ่อมแซม จำนวน 4 ราย (2.9%)                   ทุน 83 ล้านบาท (0.2%)

               และบำรุงรักษา

อันดับที่ 9 กิจการโรงแรม             จำนวน 1 ราย (0.7%)                   ทุน 100 ล้านบาท (0.3%)

อันดับที่ 10 การขายอาหาร            จำนวน 1 ราย (0.7%)                   ทุน 25 ล้านบาท (0.1%)

               และเครื่องดื่ม

  • ที่สุดแห่งการจัดตั้งธุรกิจภาพรวมในประเทศไทย

ปี 2566 เป็นปีที่มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดในรอบ 10 (ปี 2557 - 2566) โดยปี 2566 มีนักลงทุนจดทะเบียนฯ จำนวนรวมทั้งสิ้น 85,300 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 8,812 ราย หรือ 12% มูลค่าทุน 562,469.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 132,640.83 ล้านบาท หรือ 31% (ปี 2565 จัดตั้ง 76,488 ราย ทุน 429,828.81 ล้านบาท)

เป็นการจัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบ * บริษัทจำกัด 72,139 ราย (84.57%) ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 13,086 ราย (15.34%) และ บริษัทมหาชนจำกัด 75 ราย (0.09%) โดยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก SMEs จำนวน 85,233 ราย (99.92%) และขนาดใหญ่ L จำนวน 67 ราย (0.08%)  

ต่างชาติลงทุนไทยปี 66 กว่า 1.3 แสนล. ญี่ปุ่นแชมป์ ตั้งธุรกิจใหม่พุ่งรอบ 10 ปี

  • ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป         จำนวน 6,524 ราย (7.65%)                     ทุน 13,236.72 ล้านบาท (2.35%)

2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์              จำนวน 6,393 ราย (7.49%)                       ทุน 29,289.12 ล้านบาท (5.21%)

3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร       จำนวน 4,001 ราย (4.69%)                       ทุน 8,046.23 ล้านบาท (1.43%)

4. ธุรกิจให้คำปรึกษา                    จำนวน 2,046 ราย (2.40%)                       ทุน 4,034.23 ล้านบาท (0.72%)

   ด้านการบริหารจัดการอื่น ๆ

5. ธุรกิจตัวแทนนายหน้า              จำนวน 1,943 ราย (2.28%)                       ทุน 6,413.98 ล้านบาท (1.14%)

   อสังหาริมทรัพย์

6. ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 1,713 ราย (2.01%)                        ทุน 2,270.84 ล้านบาท (0.40%)

7. ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า     จำนวน 1,643 ราย (1.93%)                       ทุน 2,693.93 ล้านบาท (0.48%)

   รวมถึงคนโดยสาร

8. ธุรกิจขายปลีกสินค้า                 จำนวน 1,484 ราย (1.74%)                       ทุน 2,009.29 ล้านบาท (0.36%)

   ในร้านค้าทั่วไป

9. ธุรกิจจัดนำเที่ยว                       จำนวน 1,419 ราย (1.66%)                       ทุน 2,702.58 ล้านบาท (0.48%)

10. ธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป                      จำนวน 1,084 ราย (1.27%)           ทุน 3,719.92 ล้านบาท (0.66%)

  • ที่สุดแห่งการจัดตั้งธุรกิจในกรุงเทพมหานคร / ภูมิภาค / จังหวัด และธุรกิจที่ได้รับความสนใจ

การจัดตั้งธุรกิจทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 85,300 ราย เป็นการจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 25,120 ราย (29%) และ ภูมิภาค 60,180 ราย (71%) หากพิจารณาตามเขตภูมิภาค แบ่งออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคกลาง มีสัดส่วนการจัดตั้งธุรกิจสูงสุด 17,581 ราย (20.61%) ภาคใต้ 11,675 ราย (13.69%) ภาคตะวันออก 10,948 ราย (12.83%) ภาคตะะวันออกเฉียงเหนือ 8,942 ราย (10.48%) ภาคเหนือ 8,604 ราย (10.09%) และภาคตะวันตก 2,430 ราย (2.85%) โดยทุกภาคมีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่ผ่านมา ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอัตราการเติบโตลดลงในปี 2566

ต่างชาติลงทุนไทยปี 66 กว่า 1.3 แสนล. ญี่ปุ่นแชมป์ ตั้งธุรกิจใหม่พุ่งรอบ 10 ปี

  • การเลิกประกอบธุรกิจ ปี 2566

ปี 2566 มีจำนวนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการทั้งสิ้น 23,380 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,500 ราย (7%) มูลค่าทุนเลิกประกอบกิจการ 160,056.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 33,008.08 ล้านบาท (26%) (ปี 2565 เลิกประกอบธุรกิจ 21,880 ราย ทุน 127,048.39 ล้านบาท)

ประเภทธุรกิจที่มีการเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป  2,166 ราย (9.26%) 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,146 ราย (4.90%) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 154 ราย และ 123 ราย ตามลำดับ โดยธุรกิจ 2 ประเภทนี้เป็นธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูง และจดทะเบียนเลิกกิจการสูงทั้งคู่ เนื่องจากรูปแบบของธุรกิจที่มักจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลตามการก่อสร้าง หรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเมื่อโครงการสำเร็จปิดตัวลงเรียบร้อย ก็จะเลิกกิจการเพื่อไม่ให้เป็นภาระในการทำบัญชีหรือส่งงบการเงินให้กับส่วนราชการ และอันดับ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เลิกประกอบธุรกิจ 699 ราย (2.99%) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 76 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สอดคล้องไปทิศทางเดียวกันกับจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในปี 2566 ที่มีธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้ง และการเลิกประกอบกิจการ พบว่าจำนวนการจัดตั้งธุรกิจมีการเพิ่มสูงขึ้นและมีทิศทางในทางบวกอย่างชัดเจน โดยการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการไม่ได้สูงกว่าปกติ และแตกต่างจากจำนวนในปีก่อน ๆ มากนัก

ต่างชาติลงทุนไทยปี 66 กว่า 1.3 แสนล. ญี่ปุ่นแชมป์ ตั้งธุรกิจใหม่พุ่งรอบ 10 ปี

  • ที่สุดของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและคงอยู่ปัจจุบัน

จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการรับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ตั้งแต่ปี 2466 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 101 ปี มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทั้งสิ้น 1,877,236 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 29.41 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 890,317 ราย แบ่งออกเป็น บริษัทจำกัด 689,917 ราย (77.49%) ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 198,955 ราย (22.35%) และบริษัทมหาชนจำกัด 1,445 ราย (0.16%) 

  • บทสรุปที่สุดของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและเลิกประกอบกิจการ ปี 2566

ปี 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ถึง 12% ซึ่งจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นไปตามการคาดการณ์การจดทะเบียนฯ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ 82,000 - 85,000 ราย ซึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นจากปี 2565 บวกกับปัจจัยส่วนหนึ่งที่กระตุ้นในด้านต่างๆ จากรัฐบาล ทั้ง * โครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega projects) ที่กลับมาเดินหน้าก่อสร้างโครงการอย่างต่อเนื่องหลังจากล่าช้าช่วงสถานการณ์โควิด-19 * นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพรวมของปี 2566 ให้กลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มธุรกิจภาคบริการยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในการจัดตั้งธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ว่ามีจำนวนการจัดตั้งสูงติดอันดับต้นๆ ทั้งธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

ในส่วนของการเลิกประกอบกิจการถือว่าเป็นแนวโน้มปกติ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเลิกประกอบกิจการกับการจัดตั้งธุรกิจ พบว่า เลิกกิจการคิดเป็น 27.41% ของการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 28.61% และอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (2561-2565) ซึ่งอยู่ที่ 29.75% ประกอบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการในปี 2566 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2565 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การเลิกประกอบกิจการยังคงเป็นปกติ และการจัดตั้งธุรกิจยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปี 2565

  • ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2567

ภาพรวมธุรกิจในปี 2567 คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.7 - 3.7% และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 2.7% สอดคล้องกับกระทรวงการคลังที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุนของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง มาตรการภาครัฐด้านต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการบริโภคของภาคเอกชน เช่น โครงการ อี-รีฟันด์ (e-Refund) มาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-receipt) มาตรการแก้หนี้นอกระบบ และนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ที่จะช่วยสร้างกระแสหรือความนิยมและมูลค่าเพิ่มให้กับเรื่องต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับปัจจัยลบหรือความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในปี 2567 ที่ควรจับตามอง ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลต่อการค้าและการลงทุนโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลก สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย รวมทั้ง ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลต่อสถานการณ์แล้งและต้นทุนราคาอาหาร นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนที่สูง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในปี 2567 ได้