นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า สัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย) ได้สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.66 โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสต์วอเตอร์ ได้ส่งมอบให้กรมแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ยังต้องปรับปรุง เนื่องจากการส่งมอบท่อต้องเป็นท่อที่ใช้งานได้ แต่มีท่อบางอันมีปัญหารั่ว พัง ซึ่งอีสต์วอเตอร์ต้องเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้
ส่วนกรณีอีสต์วอเตอร์ ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์นั้น ล่าสุด ศาลได้ยกฟ้องแล้ว ต้องรอติดตามว่าในวันที่ 27 ม.ค.นี้ บริษัทจะมีการอุทธรณ์ต่อหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการหลังจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าอีสต์วอเตอร์ กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลนั้น จะไปหารือเรื่องการบริหารจัดการอย่างไร
“หากคุยกันไม่ได้ วงษ์สยามก่อสร้าง อาจจะได้ทั้งท่อ และน้ำในโครงการ แต่อาจจะไม่ได้ลูกค้า ส่วนอีสต์วอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการน้ำก่อนหน้านี้ ก็มีลูกค้าปลายท่ออยู่แล้ว ฉะนั้น ทั้ง 2 บริษัทจะต้องมาตกลงร่วมกันว่าจะบริหารอย่างไร เช่น อาจจะเป็นการเช่าช่วง เป็นต้น โดยในกฎหมายของกรมธนารักษ์ ระบุให้สามารถทำได้ถ้าไม่เสียหายต่อผู้ใช้น้ำ แต่เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว วงษ์สยามก่อสร้าง จะต้องมาคุยกับเรา”
ขณะที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้อนุมัติให้กรมชลประทานสามารถจ่ายน้ำให้เอกชนมากกว่า 1 แห่งนั้น มีไว้เพื่อให้วงษ์สยามก่อสร้าง สามารถขอโควตาน้ำจากกรมชลประทานได้
เพราะเดิมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปเปิดบริษัทลูก คือ อีสต์วอเตอร์ แล้วให้อีสต์วอเตอร์เป็นผู้บริหารน้ำหลักในพื้นที่อีอีซีแทน ซึ่งในกฎหมาย คำว่า “ผู้บริหารหลัก” มองว่าเป็นรายเดียว ครม.จึงได้ปลดล็อกส่วนนั้น เพื่อให้วงษ์สยามก่อสร้างไปขอใช้โควตาน้ำได้ด้วย