ภายใต้แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ อีอีซี หนึ่งในแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่อีอีซี เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าขึ้นมารองรับ
โดยพุ่งเป้าไปที่โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง(ระบบกักเก็บพลังงาน) ที่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดการจัดให้มีระบบพลังงานหมุนเวียน รองรับอุปสงค์ของนักลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้มีความได้เปรียบในการชักจูงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ
แผนดังกล่าว ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานจากพลังงานทดแทน/พลังงานสะอาด (Renewable Energy) ต่อพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเป็น 30:70 โดยภายในปี 2569 เป็นระยะทดลองให้มีการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์
ส่วนในระยะต่อไป จะขยายถึง 30 % ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (Indepen dent Power Supply : IPS) ในการพัฒนาที่เกิดขึ้นใหม่ และในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 28 เขต โดยไม่ต้องบรรจุภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แต่เป็นการดำเนินการในรูปแบบของการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง (IPS) ไม่มีการขายพลังงานไฟฟ้าเข้ามาในระบบของการไฟฟ้า
ปัจจุบันบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ร่วมทุนบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ขึ้นมาเพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการจัดซื้อที่ดินจำนวนประมาณ 3,100 ไร่ มูลค่าที่ดินพร้อมส่วนปรับปรุงค่าบริหารจัดการและค่าพัฒนาโครงการ เป็นจำนวนเงินกว่า 3,174 ล้านบาท
ขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะเป็นแบบ Non-firm ในอัตราขายส่ง ช่วง Peak ที่ 4.2243 บาทต่อหน่วยและช่วง Off-Peak ที่ 2.3567 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดกพอ. มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว หลังจากมีกรรมการ ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงพลังงาน มีข้อสังเกตและเสนอขอแก้ไขความเห็นที่ประชุมครั้งก่อน
โดยเห็นว่าโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด และพลังงานสำรอง ปัจจุบันนั้น มีการคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงเกินไปและไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังไม่ได้อยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 (Power Development Plan: PDP 2018) ซึ่งการจะนำกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มาใช้แทนนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต จึงขอให้กลับไปพิจารณา และนำกลับมาเสนอบอร์ดอีกครั้ง
มติกพอ. ครั้งนี้ส่งผลให้การร่วมลงทุนระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ในการลงทุนโครงการดังกล่าวอาจต้องชะงักลง ทั้งๆที่การประชุมกพอ. เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด และพลังงานสำรอง ไปแล้ว
อีกทั้งที่ผ่านมาบริษัท เซท เอนเนอยีได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานและได้จัดเตรียมเอกสารและหลักฐานเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2551
โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัททุนจดทะเบียน 3,445.35 ล้านบาท และได้จัดทำแผนธุรกิจ พร้อมเจรจาสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการกู้เงินลงทุนพัฒนาโครงการ
รวมทั้งกฟภ. ยังได้เห็นชอบอนุญาตให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม จำกัด โอนสิทธิและหน้าที่ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด
สำหรับบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจด้านการลงทุน โดยการถือหุ้นบริษัทในเครือ เพื่อดำเนินธุรกิจ 4 ด้าน ดังนี้
1. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มแบบครบวงจร (Engineering, Procurement and Construction: EPC) และธุรกิจบริการด้านการปฏิบัติการ การบำรุงรักษา และการประมวลผลโซลาร์ฟาร์ม (Operation, Maintenance and Monitoring: OM&M)
2. ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof)
3. ผู้แทนจำหน่ายและผู้ให้บริการเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) อย่างเป็นทางการ (Authorised Sales & Service Partnership) ของ SMA Solar Technology AG (SMA) ประเทศเยอรมนี
4. ธุรกิจผลิต จำหน่าย และให้บริการติดตั้งหลังคาเหล็ก (Metal Sheet Roofing) พร้อมบริการครบวงจร
ผู้ถือหุ้นใหญ่ SPGC 10 อันดับแรก ณ วันที่ 28 ส.ค. 2566 ประกอบด้วย
ณ 30 ก.ย. 2566 SPGC มีสินทรัพย์รวม 24,191.00 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,712.59 ล้านบาท ผลการดำเนินงานในรอบรอบ 9 เดือน ปี 2566 มีรายได้รวม 3,232.94 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,448.57 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน ให้ความเห็นว่า กรณีดังกล่าว ถือเป็นการล้มมติเดิมของ กพอ.ที่เคยเห็นชอบในหลักการไว้ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ตามแนวทางพัฒนาและลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับภาคเอกชนในประเทศไทย แบบผสมผสานร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่เดิม ตามสัดส่วนที่เหมาะสม
โดยให้สิทธิ์บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ไปดำเนินการลงทุนจัดหาไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง (IPS) หรือนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ขึ้นในปี 2563 เป็นต้นมา นักลงทุนไม่เข้ามาลงทุนตามเป้าหมาย ไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ส่งผลให้โครงการดังกล่วไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้โครงการนี้เข้าไปอยู่ในแผนพีดีพี เพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งจะทำให้การลงทุนเดินหน้าต่อไปได้
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางกระทรวงพลังงานคัดค้านมาโดยตลอด เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ในการประชุมกพอ.ล่าสุด จึงได้เห็นมติดังกล่าวออกมา สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนโครงการดังกล่าวถึงแนวทางการดำเนินใหม่ออกมาว่าจะเป็นในรูปแบบใด ที่คาดว่าจะนำกำลังการผลิตของไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทั้งหมดเข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพีดีพี และเปิดให้มีการแข่งขันหรือประมูลขายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์เดินหน้าลงทุนต่อได้ เพราะมีความได้เปรียบในการจัดซื้อที่ดินไว้ก่อนแล้ว