วันนี้ (29 มกราคม 2567) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บัตรส่งเสริมการลงทุนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด บริษัทเอกชนคู่สัญญากับรัฐในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท ได้หมดอายุลงแล้ว แต่ทางเอเชีย เอรา วัน ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ขอต่ออายุกับทางบีโอไอได้
ที่ผ่านมา สำนักงานบีโอไอ ได้ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ไปแล้ว พร้อมทั้งได้รับการเสนอขอต่ออายุมาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนจะหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในการเสนอขอขยายระยะเวลาครั้งที่ 3 ในช่วงที่ผ่านมา บีโอไอ ได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นจาก สกพอ. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้ว โดยได้ข้อสรุปว่า ไม่อนุมัติการต่ออายุให้
ทั้งนี้เนื่องจากหนังสือตอบกลับจากทั้งสองหน่วยงานเห็นว่า ความล่าช้าของโครงการจะส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ส่วนการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ไม่มีผลต่อการขอรับบัตรส่งเสริม จึงไม่ควรขยายเวลาออกไปอีก แต่บริษัทก็ยังสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมใหม่ได้เมื่อมีความพร้อม หรือแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จ
“ตอนนี้บริษัทก็สามารถอุทธรณ์กับบีโอไอต่อไปได้ ส่วนขั้นตอนการแก้ไขสัญญาตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ” ดร.จุฬา ระบุ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า จะขอให้ทาง สกพอ. รายงานรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการไฮสปีดเทรนให้ทราบก่อนว่าตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไร ติดขัดเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้
“จะต้องดูว่าโครงการเดินหน้าไปตามกระบวนการอย่างไรบ้าง เพราะไฮสปีดเทรน เป็นปัจจัยสำคัญของโครงการอีอีซี และได้มอบหมายเลขาฯอีอีซี ไปว่าให้ดูแลโครงการว่าจะเดินหน้าต่อไปยังไง จุดไหนที่ทำให้มีข้อจำกัด ทางกฎหมายมีอะไรติดขัด หรือมีอะไรทำได้หรือไม่ ก่อนสรุปข้อมูลมารายงาน คิดว่าไม่นานนี้จะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว
ทั้งนี้ในกรณีที่ภาคเอกชนอาจจะยกเลิกการลงทุนมีความเป็นไปได้หรือไม่ และหากเกิดขึ้นจริงจะกระทบโครงการอย่างไร รองนายกฯ ยอมรับว่า ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าติดขัดอย่างไร หรือมีข้อเสนออย่างไร ก็ขอให้ไปเจรจาเพื่อหาทางออก เพราะรัฐบาลอยากให้โครงการเดินต่อไปได้โดยที่ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันโครงการเดินหน้ามามากแล้ว
ส่วนการแก้ไขสัญญากับเอกชนผู้ร่วมลงทุนนั้น ประธานบอร์ด กพอ. ยืนยันว่า คงต้องดูให้สอดคล้องกับกฎหมาย รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร หากไม่ใช่และเป็นไปได้ยากก็ต้องมาคิดดูว่าจะจัดการอย่างไร ส่วนข้อสรุปของการขับเคลื่อนโครงการนั้น ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดไทม์ไลน์ออกมาชัดเจน เพราะต้องขอดูข้อมูลก่อนว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร