“จุลพันธ์” ลุย “แจกเงินดิจิทัล” พร้อมตอบทุกคำถาม ป.ป.ช.

05 ก.พ. 2567 | 06:37 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2567 | 06:39 น.

รมช.คลัง ลุยถกนายกฯ เดินหน้า “แจกเงินดิจิทัล” พร้อมตอบทุกคำถาม ป.ป.ช. ระบุเศรษฐกิจจำเป็นต้องกระตุ้นเร่งด่วน จี้กนง.คุมดอกเบี้ย ใช้นโยบายการเงินการคลังประสานกัน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า จะเข้าไปปรึกษานายกฯ เรื่องการเดินหน้าโครงการเติมดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท โดยได้เตรียมข้อเสนอไปหารือกับนายกฯ แล้วเช่นเดียวกัน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เตรียมคำตอบเพื่อชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเชื่อว่าเราสามารถตอบคำถามได้ทุกประเด็น แม้ว่าหนังสือข้อเสนอแนะจากป.ป.ช.จะยังส่งมาไม่ถึงก็ตาม

ส่วนความเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ตนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หากติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ตัวเลขชัดเจนว่าหนักขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเช่นไร แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมา เช่น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ยืนยันว่าตัวเลขเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะในปี 2566

“แม้ว่าจะมีกลไกและนโยบายจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความเป็นห่วงในเรื่องนี้ และกลไกที่กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นก็มีความจำเป็น และเป็นเรื่องที่เร่งด่วน แต่เราต้องรับฟังให้รอบด้าน จากความเป็นห่วงในบางส่วนงาน อย่างข้อห่วงใยจากป.ป.ช.ที่จะออกมา และต้องไปทำความชัดเจนในเรื่องที่เป็นห่วง”

ทั้งนี้ ล่าสุด ตัวเลขเงินเฟ้อออกมา ก็ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อขาด อาจจะอ้างได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายทางด้านพลังงานของรัฐ แต่ก็ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของประชาชนหดหาย และเมื่อตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนก็ไม่จับจ่าย เพราะห่วงการแก้หนี้สิน และภาคเอกชนเองก็ไม่ลงทุน ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ผ่านมาอยู่ที่กลุ่มบนมากที่สุด รากหญ้าจริงๆ ไม่มีการขยายตัว ไม่มีรายได้เพียงพอ

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมาถึงในวันที่ 7 ก.พ.67 นี้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยเป็นภาระของประชาชน อยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้มีความเชื่อมโยงมากขึ้น อย่าห่วงแต่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียว

“ตอนนี้ระบบสถาบันการเงินแข็งแกร่งมาก แต่ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากประชาชนเป็นอีกมิติหนึ่ง การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องสอดประสานกัน”