นโยบาย "เรือธง" ของ "รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน" อย่าง "ดิจิทัลวอลเล็ต" หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ติดหล่มอยู่ที่ "สนามบินน้ำ" สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หลังจากเอกสารหลุดของ "คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet" ที่มี "สุภา ปิยะจิตติ" มือตรวจสอบโครงการจำนำข้าว "นั่งหัวโต๊ะ" ติดเบรกโครงการเงินดิจิทัล
"หมอมิ้ง" นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผูกเรื่อง-ต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพ การทำงานของ "รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน" ที่ไม่ได้ยึดถือ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เป็นสรณะ แต่ยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก "หลายมาตรการ"
หลังจากนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ "เซลส์แมนประเทศไทย" เดินทางไปเจรจาการค้า-การลงทุนในต่างประเทศ เริ่มผลิดอก-ออกผล ลบคำปรามาส"4 เดือน รัฐบาลยังไม่มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน" ที่ดังมาถึงตึกไทยคู่ฟ้า
"ประเทศไทยมีศักยภาพซ้อนเร้นเยอะ รัฐบาลพยายามสร้างบรรยากาศให้เป็นหลักประกันของการลงทุน และหลักประกันศักยภาพของเรา เราบาลานซ์ทั้งสองค่าย ทุกค่ายจะเห็นไทยเป็นโอกาส กำลังจะผูกภาพให้เห็นว่า เรื่องต่าง ๆ เป็นช็อต วันนี้มีรูปธรรม การเจรจา การเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีเริ่มออกดอกออกผล"
แม้การจัดตั้ง "รัฐบาลเศรษฐา" หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ดีเลย์มากว่า 4 เดือน แต่ "หมอมิ้ง" กลับเห็นวิกฤตเป็น "โอกาส" ที่จะ "ฟื้นระบบ" บิวด์อัพบรรยากาศการลงทุน หลังจากประเทศไทย "หลุดจอเรด้า" จาก "เวทีการค้าโลก"
"สิ่งที่ฟื้นคืนกลับมาอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากรัฐบาลนี้เข้ามาได้เพียง 4 เดือน คือ การได้แก้ปัญหาต่าง ๆ การได้คบค้ากับประเทศต่างๆ มากขึ้น เปิดช่องให้มากขึ้น"หมอมิ้งระบุ
"ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในช่วงปลายปี 2566 นายกรัฐมนตรีมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมประชุมบนเวทีระหว่างประเทศจำนวนมาก นับเป็นการฟื้นระบบให้มีการเชิญชวนการลงทุน พร้อมกับการสร้างบรรยากาศให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยการทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก จนมีผู้นำจากต่างประเทศมาเยี่ยมเยียนจำนวนมาก"
โดยมีเรื่องการเจรจาการค้าเสรี (FTA) เป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่มีเยอรมนีเป็น "หัวหอก" ซึ่งประธานาธิบดีเยอรมันพร้อมที่จะสนับสนุนไทยเต็มที่
"จากเดิมรัฐบาลที่แล้วตั้งเป้าเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูให้สำเร็จภายใน 2 ปี แต่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ให้เสร็จภายใน 1 ปี ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดให้เร็วที่สุดเพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญของนักลงทุน"หมอมิ้งกล่าว
"หมอมิ้ง" ยกตัวอย่างให้เห็นความสำคัญของไทยในสายตาของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และอียู ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ว่า ประธานาธิบดีเยอรมนี ในฐานะผู้นำกลุ่มอียูยึดถือเรื่องความเป็นประชาธิปไตยสูงมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 22 ปี นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน มาหารือวงปิดที่ไทย เป็นตัวชี้วัดว่า ประเทศไทยค่อย ๆ เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น
"หมอมิ้ง" ชี้ "จุดเด่น" ของประเทศไทยที่ทำให้ชาวโลกต้องหันกลับมามองอีกครั้ง 2 เรื่อง หนึ่ง ภูมิศาสตร์ มีทางเปิดออกทะเลทั้งสองข้าง สอง Geo-politic รัฐบาลเดินนโยบายต่างประเทศเป็นผู้ที่สร้างบทบาทสำคัญในการผลักดันสันติภาพและความมั่นคั่งร่วมกัน
“ตัวชี้วัดสำคัญ คือ ทั้งสองประเทศ (สหรัฐฯ และจีน) เลือกประเทศไทยเป็นที่เจรจา เพราะเราไม่พยายามเป็นศัตรูกับฝ่ายไหนเลย เราเป็นประเทศที่ไม่เป็นศัตรูกับทั้งสองฝ่าย”นพ.พรหมินทร์กล่าว
"หมอมิ้ง" กล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ - เมกะโปรเจ็กต์ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท บอกว่า ผู้นำที่มาไทยล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะเป็นเส้นทางคมนาคมสายใหม่ โดยเฉพาะจีน ที่จะใช้เชื่อมต่อกับ Belt and Road Initiative (BRI)
“หวัง อี้ พูดชัดมาก ว่า เส้นทางแลนด์บริดจ์เป็นทางยุทธศาสตร์ จีนให้ความสำคัญมาก เพราะจะได้ประโยชน์จากการส่งสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันและเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมต่อกับทางรถไฟของจีนที่มาจากประเทศจีน มาถึงลาว เชื่อมลงมาให้ไปถึงสิงคโปร์ จีนถือว่าเป็นเส้นทางกลางเชื่อมเครือข่ายการขนส่ง เส้นทางเชื่อมต่อของมนุษย์ต่อมนุษย์ ตัดถนนไปที่ไหนก็เจริญที่นั่น เพราะจะมีการขนถ่ายสินค้า ไปมาค้าขาย การท่องเที่ยว การคบค้าสมาคมทั้งหลาย”
อีก 1 "เครื่องจักรการลงทุน" คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังจากประกาศ ว่า ไทยกำลังจะก้าวไปสู่การเป็น "ศูนย์กลางผลิตรถอีวี" และได้เชิญชวนบริษัทรถยนต์ค่ายยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เปลี่ยนถ่ายจากการลงทุน "รถยนต์สันดาปภายใน" เป็น "รถอีวี" จูงใจด้วยสิทธิประโยชน์การลงทุนของบีโอไอและสร้างความเชื่อมั่น จนเกิดการ "ลงทุนจริง" จากนักลงทุนต่างประเทศ
"อย่างต่ำจากจีน 4 ค่ายใหญ่ อีก 2 ค่ายกำลังจ่อเข้ามา ญี่ปุ่น โตโยต้าตัดสินใจด้วยเพคเกจส่งเสริมการลงทุนรถยนต์อีวีของบีโอไอ และรับปากว่าจะลงทุนอีก 50,000 ล้านบาท ฮอนด้าอีก 50,000 ล้านบาท อีซูซุ 30,000 ล้านบาท มิตซูบิชิ 20,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 1.5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี"
"เทสลาร์มาขายในไทยแล้ว แต่เราต้องการให้มาลงทุนในไทย เพราะเทสลาร์มองไทยเป็นโอกาส ขณะเดียวกันเราต้องปรับในเรื่องพลังงานสะอาดและแพคเกจการลงทุน โดยแวลูเชนสำคัญ คือ การผลิตแบตเตอรี่ในไทย และเซมิคอนดักซ์เตอร์"
รวมถึงบริษัท "บิ๊กเทค" ที่จะมาลงทุน "ดาต้าเซ็นเตอร์" ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่อง AI รัฐบาลได้ขจัดอุปสรรคด้านกฎหมายอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business Law) ให้กับ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส (Amazon Web Services : AWS) สำเร็จไปแล้ว เรื่องใดที่เป็นอุปสรรครัฐบาลจะอำนวยความสะดวกให้
"ไมโครซอฟท์ ก็สนใจที่จะขยายการลงทุนเพิ่มในส่วนที่เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ กูเกิ้ล ประกาศในเว็บไซต์ตั้ง Cloud Region ในประเทศไทย หลังจากนายกรัฐมนตรีไปพบ apple ออกจดหมายถึงนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เพราะผู้ลงทะเบียนเป็น web developer จากไทยมีถึง 3 แสนราย ยินดีที่จะมาให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการพัฒนาผู้ประกอบการในเรื่องดิจิทัล หัวเว่ยที่ลงทุนอยู่แล้วในไทยจะขยายการลงทุน"
"เรื่องของกติกาอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ รัฐบาลได้เร่งรัดร่างกฎหมาย 1 ฉบับ ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.เร็ว ๆ นี้ เป็นกฎหมายที่จะทำให้การทำธุรกิจสะดวกมากยิ่งขึ้น"หมอมิ้งทิ้งท้าย