รัฐบาลหลังพิงฝา โชว์ 5 วิกฤตประเทศ ต้องแก้ด้วย “เงินดิจิทัลวอลเล็ต”

06 ก.พ. 2567 | 07:14 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2567 | 07:20 น.

โฆษกรัฐบาล ยก 5 วิกฤตประเทศ เป็นเหตุผลที่ต้องมีโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้หากไม่ทำเศรษฐกิจไทยเสี่ยงเติบโตช้าเรื้อรัง

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ เต็มศักยภาพของประเทศ 

ทั้งนี้รัฐบาลขอกล่าวอ้างถึง 5 เหตุผล ตามที่นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ดังนี้ 

1. เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด - 19 เศรษฐกิจไทยขยายตัวขยายตัวได้เพียง 3.6 % ในช่วงปี 2553 - 2562

2. เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ามาก ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวที่เติบโตต่ำ 

3. การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำ และต่ำกว่าหลายประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553 – 2562 สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 23.6% เท่านั้น ต่ำกว่าการลงทุนในหลายประเทศ

4. อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มจาก 70% ต่อ GDP มาอยู่ที่ 91.6% ต่อ GDP ทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อและมีแรงกดดันเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง

5. วิกฤตเรื่องการขาดสภาพคล่อง (liquidity Crisis) ในตลาดเงินและตลาดทุน เห็นได้จากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งการระดมทุนผ่านตลาดทุนก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

นายชัย กล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้เดินหน้าทุกเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้ง ฟื้นระบบ-สร้างบรรยากาศลงทุน ใช้เครื่องมือด้านการค้า FTA นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท และเชิญชวนการลงทุนด้านเทคโนโลยี Data Center

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ แล้วรัฐบาลมีเหตุผลเพียงพอที่จะสนับสนุนความจำเป็นในการผลักดันโครงการ Digital Wallet โดยรัฐบาลเชื่อว่า เมื่อเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มสูบแล้ว ทำให้เกิดสภาพคล่อง สร้างความสามารถในการใช้จ่าย ปั๊มเงินลงระบบจะทำให้เกิดการกระตุกทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ 

“รัฐบาลได้วิเคราะห์ปัญหาทางเศรษฐกิจ กำหนดวางแนวทางการแก้ไขเพื่อให้เกิดความคล่องในการใช้จ่าย เพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ เกิดแรงจูงใจในการผลิต การลงทุน เพื่อให้เกิดการกระตุกปั๊มแรงขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจ และเป็นนโยบายที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่ามีความจำเป็นในสภาพเศรษฐกิจเติบโตช้า ฟื้นตัวช้า ก่อนสภาพเศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าเรื้อรัง” นายชัย ระบุ