KEY
POINTS
การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ "ฮุน มาแนต" นายกรัฐมนตรีกัมพูชาอย่างเป็นทางการในวันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2567) และพบกับ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีไทย ที่กรุงเทพฯ เป็นไปอย่างชื่นมื่น พร้อมกับบรรลุข้อตกลง-ความร่วมมือ จำนวน 5 ฉบับ หลังจากนี้จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติที่จะนำไป "ขยายผลต่อ" ให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
"ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช" รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการพูดคุยของ "สองผู้นำ" ทายาทการเมือง แห่ง "สองตระกูล" อย่าง "ตระกูลชินวัตร" กับ "ตระกูลฮุน" จะราบรื่น-ขรุขระหรือไม่ อะไรคือโอกาส-ความเสี่ยง และ "จุดอ่อนไหว" การเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในครั้งนี้คืออะไร บรรทัดถัดไปคือคำตอบ
ขึ้นอยู่กับว่าอยู่บนหลักการ the winner takes it all ผู้ชนะกินรวบทั้งหมด หรือ win-win ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ถ้าสู้หรือขัดแย้งกันจริง ๆ ต้องเป็นผู้ชนะกินรวบทั้งหมดอยู่แล้ว ตรงพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามีลักษณะพิเศษแตกต่างจากข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร เพราะไม่ใช่พรมแดนทางบก เป็นเขตเศรษฐกิจทางทะเล และมีเรื่องของปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ
“อยู่ที่สูตรการเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกันว่าจะเอาแบบไหน ถ้าแบ่งสัดส่วนเป็น พื้นที่อยู่ใกล้ไทย เวลานำทรัพยากรขึ้นมา สัดส่วนการแบ่งไทยอาจจะได้มากหน่อย ส่วนพื้นที่ที่ใกล้กับฝั่งกัมพูชาก็ต้องได้มากกว่าไทย และมีพื้นที่อยู่ตรงกลางที่ได้ทรัพยากรเท่ากัน”
แต่ในทางปฏิบัติใช่ว่าจะสัมฤทธิ์ผลได้รวดเร็ว เพราะแต่ละประเทศก็ต้องอ้างผลประโยชน์แห่งชาติ เวลากัมพูชาอ้างสิทธิการเคลมก็ต้องไปให้สุดก่อน ซึ่งจะเป็นกระบวนการต่อสู้กันในชั้นศาลบ้าง หรือการวางกำลังทางทหาร โดยเฉพาะจุดยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ
“เรื่องนี้เป็นปัญหามาหลายสิบปี มาวันนี้จะให้มันจบแบบรวดเร็วคงยากอยู่ ถ้าจบแบบรวดเร็วมันก็ต้องออกสูตร win-win ซึ่งในที่ประชุมที่ผ่านมาก็มีคนเสนอแบบนี้ แต่สุดท้ายนำปฏิบัติไม่เป็นรูปธรรม”
ฝั่งไทยเคยเสนอรูปแบบพื้นที่พัฒนาร่วมโดยใช้โมเดลที่ไทยมีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทยกับมาเลเซีย หรือ JDA แต่ถ้าวัดเป็นหน่วยตารางกิโลเมตรของเจดีเอน้อยมาก เมื่อไปเปรียบเทียบกับ 26,000 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทยกับกัมพูชา อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด อาจจะดึงมาทดลองใช้ในบางส่วน
“ถ้าไม่มีการยั่วยุทางทหารสถานการณ์อาจเป็นไปด้วยสันติ ราบรื่น สามารถทดลองสูตรแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธีได้ในบางช่วง บางเปราะ เรื่องที่แก้ไขยากที่เป็นจุดที่ชุกชุมด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อาจจะยังไม่แตะ ทอดเวลาออกไปก่อน ใช้ยุทธศาสตร์ผ่อนสั้น ผ่อนยาว ทีละขั้นทีละตอน"
"จุดที่ละเอียดอ่อนน้อยที่สุด ปมขัดแย้งน้อยที่สุดขึ้นมาทดลองใช้อย่างสันติก่อน ที่มีความรุนแรงก็ทอดเวลาออกไป หรือจะเอาให้จบหมดทีเดียวก็ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ และการเสนอผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย และจะเกลี่ยกันให้เป็นธรรมจริง ๆ ต้องชัดเจนจริง ๆ ยาก เพราะไม่มีใครยอมใครเท่าไหร่”
ต้องเช็กดูว่า พื้นที่ที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเยอะ ต้องคุยกันหนัก เพราะผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร เราอาจจะไม่ได้คุยกับกัมพูชาแต่เพียงอย่างเดียว แต่กัมพูชาก็ต้องเชื่อมโยงกับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาขุดเจาะน้ำมัน หรือสัมปทานน้ำมันใต้ทะเลอ่าวไทย ซึ่งอาจจะเป็นประเทศอื่น ทำให้มีส่วนได้ส่วนเสียเยอะ การคำนวณผลประโยชน์เยอะ ถ้าเลื่อนการพูดคุยตรงพื้นที่นี้ออกไปก่อน และคุยกันในพื้นที่ที่ทับซ้อนกันน้อย ทดลองเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมก่อน สามารถช่วยได้
“กลับกันถ้าพื้นที่ทำเลทองสำคัญที่สุดมาคุยกันก่อน ต้องเร่งระดมทรัพยากรอย่างมากมาย และจัดวางผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน เป็นเรื่องยาก ถ้าเกิดขึ้นได้ก็จะยุติปัญหาตั้งแต่ได้ทันที เพราะปมทรัพยากรต่าง ๆ ที่ล้ำค่าที่สุดถูกจัดวางได้แล้ว”
สำหรับประเทศไทยเรื่องที่อ่อนไหว คือ กัมพูชาไม่ควรยุ่งกับเกาะกูด ถ้าอยู่ ๆ กัมพูชาจะมาลากเส้นและรวมเกาะกูดเข้าไปอยู่ในพื้นที่กัมพูชาก็ดูพิลึกพิลั่น เพราะโครงสร้างพื้นที่ไทยควบคุมและครอบครองในเชิงสัญลักษณ์มานาน ถ้าไปแตะเกาะกูดเมื่อไหร่ ไทยก็คงไม่ยอม ทำให้เรื่องอื่นคุยกันบยาก
มันทับซ้อนเป็นการเกลี่ยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเขตแดนของแต่ละประเทศที่ทับซ้อนกันอยู่ ถ้าคุยกันเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวก็ต้องไปคุยในพื้นที่ที่คิดว่าทับซ้อนกันแต่กระทบกระทั่งกับทรัพยากรล้ำค่าน้อย เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม เอาเรื่องเบา ๆ มาคุยกันก่อน แทนที่จะเป็นเรื่องตึงเครียด
เรื่องนี้ไม่เข้าใครออกใคร เศรษฐกิจกับความมั่นคงบางทีบูรณาการร่วมกัน เราคุยกันเรื่องเศรษฐกิจ แต่ต้องมีความเข้มแข็งของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพเรือเป็นเครื่องค้ำยันอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่ายด้วย เพื่อให้เกิดความเกรงใจ ไม่ยกอะไรขึ้นมาให้ไม่สบายใจ
“แต่เราเน้นได้ว่าจะเอาเรื่องเศรษฐกิจนำ พื้นที่อ่อนไหวน้อยมาลงทุนร่วมกันก่อน แบ่งกำไรกัน ถ้าเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันจริง ๆ แล้วต้องเอากำลังมาเผชิญหน้ากัน การทหารนำ เศรษฐกิจก็พัฒนาไม่ได้”
ในพื้นที่อ่าวไทย เรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง มี 4 ประเทศที่เป็นรัฐอ่าวไทย คือ ไทยและกัมพูชา และเวียดนามกับมาเลเซีย หรือ ถ้าจะมาจีนที่เข้ามาทางชายทะเลกัมพูชาในแง่อิทธิพลทางการค้า รวมถึงยุทธศาสตร์ทางการทหารในอนาคต จีนก็อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ทับซ้อน หรือ บทบาทของทหารสหรัฐ ฯ ในมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่จะถ่วงดุลกับจีนที่จะเข้ามาในกัมพูชา สหรัฐฯก็สนใจบางพื้นที่ของไทย เช่น อู่ตะเภา ฐานทัพในสุราษฎร์ เพื่อคานอิทธิพลของจีน เป็นเกมของมหาอำนาจด้วย
“เจรจารอบนี้ถ้าวางหลักดี ๆ ว่าสุดอยู่แค่ไหน เพดานไม่นำพาไปสู่จุดที่ตึงเครียดและทำให้วงแตก เป็นเรื่องที่ตกลงได้ในหลักการ ก็คิดว่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี”
“แต่ถ้าเพดานขยายไกล ไปในจุดที่คุยกันยาก มีประเด็นยั่วยุทางทหารประกอบ หรือการเคลมอย่างหนักของกัมพูชา ต้องเป็นของกัมพูชาให้ได้ ฮุน มาแนตทุบโต๊ะเลย ก็ไปต่อได้อยาก เอาเรื่องเขตแดนมาคุยหนัก ๆ ก่อน ก็คุยไม่ได้”
“ถ้าไม่ราบรื่น มีปัญหา ยังเชื่อว่า การทูตของตระกูลการเมืองของสองประเทศ กลไกการพูดคุยระงับข้อพิพาทเขตแดนยังพอช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ถ้าเกมนี้ลากยาว คุยเมื่อไหร่ก็ไม่จบ ก็มีความเสี่ยง”
ชนชั้นนำจะต้องนำหลักธรรมาภิบาลและเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเอาไว้ในระดับต้น ๆ ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร ประเทศชาติต้องได้รับประโยชน์ คนรับช่วงต่อจะสามารถดำเนินการได้ต่อ
“คุยเรื่องนี้ แม้จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่เนื้อในของเรื่องจริง ๆ คือ เรื่องเขตแดน เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ จบยาก แต่ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน”
คิดว่าต้องดูสภาพแวดล้อมโดยรวมด้วย เช่น การปะทะทางทหาร หรือทหารกัมพูชาสามารถเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนได้จริง ๆ แล้วมีคนบอกว่า ไทยเสียดินแดนจริง ๆ ก็คงจะปลุกขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีกลไกแก้ไขปัญหา คือ การประชุมร่วมระหว่างสองประเทศ
"ถ้ามีลักษณะการโต้เถียงด้วยวาจา โวหารทางการทูตเท่านั้น โดยยังไม่มีการปะทะทางทหารและมีผู้เสียชีวิตผมคิดว่าจุดติดยาก"
ความขัดแย้งที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน OCA หลัก ๆ เป็นเรื่องของทหารเรือ การลาดตระเวนเขตแดนทางทะเล ถ้ายังไม่มีอะไรเกี่ยวกับการรุกล้ำมาที่เกาะกูด ไม่น่าจะจุดติด
"ตัวที่จะระงับความขัดแย้งได้มากจริงๆคือ คอนเนคชั่นสายตรง ในหมู่ชนชั้นนำ ระหว่างตระกูลชินวัตร รวมถึงตระกูลทวีสิน บวกกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นคีย์แมนสำคัญก็ต่อสายพูดคุยได้"