"เศรษฐกิจจีน" เสี่ยงจมลึกสู่ภาวะเงินฝืด

09 ก.พ. 2567 | 02:20 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2567 | 02:20 น.

"เศรษฐกิจจีน" เสี่ยงจมลึกสู่ภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อจีนร่วงลงแรงสุดในรอบ 15 ปี นักวิเคราะห์เตือนถือเป็นการลดความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ

"จีน" ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกกำลังจมลงสู่ "ภาวะเงินฝืด" ท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง ข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.พ.67 แสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัด "เงินเฟ้อ" จากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.8% ในเดือน ม.ค. เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และยังเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

ส่วน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 16 แล้ว แม้ว่าจะลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 2.6% ก็ตาม 

"ราคาอาหาร" เป็นตัวฉุดรั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมากที่สุด ลดลง 5.9% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาเนื้อหมูที่ตกต่ำ 17% ผักสดลดลง 12.7% ในขณะที่ผลไม้ลดลง 9.1%

 

 

 

 

ข้อมูลครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่า จีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับ "ภาวะเงินฝืด" (Deflation) สวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ที่เผชิญกับเงินเฟ้อระดับสูง หลังจีนพยายามดิ้นรนฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของ Covid-19 หลังจากยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในปลายปี 2565 นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ Evergrande ได้รับคำสั่งให้เลิกกิจการเมื่อเดือนที่แล้ว

 

 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานบทสัมภาษณ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหุ้นส่วนของบริษัทโกรว์ อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป ที่ระบุว่า สัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อในจีนได้ดีคือ ราคาเนื้อหมูในเดือน ม.ค. ซึ่งลดลงถึง 17.3% เมื่อเทียบปีที่แล้ว จากความต้องการล้นตลาด หลังรัฐบาลพยายามเพิ่มสต็อกอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับ "ปัญหาไข้หวัดหมู" โดยดัชนีเงินเฟ้อเฉพาะในกลุ่มอาหารเดือน ม.ค. ปรับตัวลง 5.9% เมื่อเทียบปีก่อน

นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขเงินเฟ้อจีนปรับตัวลดลงมากในเดือน ม.ค. ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงฤดูกาลด้วย เพราะเทศกาลตรุษจีนปีนี้ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ความต้องการอาหารในครัวเรือน เช่น เนื้อหมู จึงฟื้นตัวอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดของจีนและการดิ้นรนของตลาดหุ้นบ่งชี้ว่า อุปสงค์ครัวเรือนและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ เสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้จีนอาจต้องเพิ่มมาตรการที่แรงขึ้นเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นและดึงเศรษฐกิจกลับมา 

ที่มาข้อมูล