TDRI เผย 4 เมกะเทรนด์ สร้างโอกาสขับเคลื่อนธุรกิจ

12 ก.พ. 2567 | 08:50 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2567 | 08:51 น.

TDRI เผย 4 เมกะเทรนด์ สร้างโอกาสขับเคลื่อนธุรกิจ เดินหน้าปรับโมเดลใหม่ ชี้ไทยมีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หนุนซอฟต์พาวเวอร์

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระห่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนา THAILAND ECONOMIC DRIVES หัวข้อเรื่อง “NEW BUSINESS กับการขับเคลื่อน” ว่า แม้ว่าประเทศไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอน แต่เรายังมีโอกาสจากการปรับโมเดลธุรกิจ หรือการสร้างธุรกิจใหม่ๆ

โดยมองว่าเมกะเทรนด์ที่จะมีในโลก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อีก 10 -20 ปี เทรนด์เหล่านั้นก็ยังอยู่กับเรา แบ่งเป็น 4 เทรนด์ ได้แก่

1.ภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจุบันยังเผชิญกับ การเมืองโลก ซึ่งนำมาซึ่งความเสี่ยงต่างๆ เช่น สงคราม การกีดกันการค้า โดยอเมริกา ก็ยังมีความขัดแย้งกับจีน ฉะนั้น ซับพลายเชนในโลกกำลังปรับ ไปยังประเทศต่างๆ ที่เป็นเพื่อนเขา บางส่วนย้ายกลับไปประเทศแม่ บางส่วนมองการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นมิตร

สำหรับการย้ายฐานการลงทุนอย่างมหาศาลในครั้งนี้ไม่ได้มีมาบ่อย 50 ปีมาครั้ง ถือเป็นโอกาสของไทย โดยการย้ายฐานการลงทุนมีมา 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากสงครามการค้า และหนีการดิสรัปชั่นที่มาประเทศไทยมีจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ มองว่าเทรนด์นี้จะไม่จบง่ายๆ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตมาไทยก็ไม่ใช่สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนใหญ่ไทยจะได้สินค้าเป็นธุรกิจใหม่ เช่น อีวี อิเล็กทรอนิกส์ และดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลการลงทุนที่มาขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า เทรนด์ที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และจีน ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

“ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดในปี 66 ที่ผ่านมา คือ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกิจที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้น ใช้หุ้นยนต์ และคนที่มีความรู้ใช้งานกับหุ้นยนต์ได้ ต่อมา คือ อีวี  ไบโอเทคโนโลยี ซึ่งเรามีฐานการเกษตรเยอะ ทำให้ต้นทุนที่ไม่แพงมาก เขาจึงอยากมาลงทุนที่ไทย จะเห็นได้ว่าโอกาสเรามาแล้ว ท่ามกลางวิกฤตการเมืองโลก”

ขณะที่เทรนด์ต่อมา คือ 2. การลดคาร์บอน เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ เริ่มตั้งแต่ พลังงาน การจัดหาพลังงานสะอาดใหม่ๆ การกักเก็บแบตเตอรี่ ซึ่งจะมีมากขึ้นในอนาคต อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้ก็เป็นธุรกิจใหม่ อีโคซิสเต็ม ซัพพลายเชนก็มีจำนวนมาก ซึ่งมองว่าธุรกิจดังกล่าวยังจะเติบโตในประเทศไทย จะไม่หายไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเครื่องขนส่งทางอากาศ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากเครื่องบิน ซึ่งจะมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นในอนาคต ถือเป็นโอกาสไทย เช่น การขนส่งทางอากาศปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก จึงมีการคิดและศึกษาเครื่องบินไฟฟ้า แต่ปัจจุบันที่ออกมายังบรรจุผู้โดยสารได้ไม่มาก และบินได้ประมาณ 300 กิโลเมตร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีการศึกษาลดการปล่อยคาร์บอนเครื่องบิน โดยใช้น้ำมันสีเขียวที่ทำจากน้ำมันที่ใช้แล้วจากการทำกับข้าว เอามากลั่นทำเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบิน หรือใช้เศษอาหาร สินค้าเกษตรมาทำ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวจะทำไทยได้เปรียบ เพราะเรามีการเกษตรจำนวนมมาก

“จากเป้าที่จะต้องลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในปี ค.ศ.2050 เพื่อให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ และอาหารเราก็อยากได้ที่ไม่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เยอะ หากเรามีความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจ จากเทรนด์เหล่านี้ ก็จะทำให้มีโอกาส อื่นๆ ที่มากับธุรกิจสีเขียว เช่น การให้คำปรึกษาการลดคาร์บอน การวัดคาร์บอน เป็นต้น และรวมถึงธุรกิจสมัยใหม่ที่จะลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์”

ดร.กิริฎา  กล่าวว่า เทรนด์ที่ 3 คือ เทคโนโลยี และเอไอ สำหรับประเทศไทยเป็น 1 ในอาเซียนที่มี 5G ฉะนั้น การที่เรามีดิจิทัลเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจด้านเทคโนโลยีได้รับความนิยม และทำให้ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วน เอไอ ที่กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ และทั้งโลกนั้น จากการศึกษาพบว่า กลุ่มธุรกิจที่ใช้เอไอมากที่สุด คือ เฮลท์แคร์ เพื่อเข้ามาช่วยให้บริการกับผู้ป่วย ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่เอเชียแปซิฟิกได้รับความนิยมลงทุน หากมองเห็นข้อมูลเหล่านี้ก็จะช่วยให้ธุรกิจพัฒนาต่อยอดไปได้

เทรนด์ที่ 4 สังคมสูงวัย โดยขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว อนาคตคนอายุ 65 ปี ก็จะมีมากขึ้น ทั้งนี้ หากดูข้อมูลประชากรทั่วโลก ประเทศที่มีค่ากลางอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่สูงวัยแล้วแต่ยังไม่รวย

“เราต้องดูว่ามีสินค้าอะไรที่จะไปตอบโจทย์ให้กับประชากรสูงวัยเหล่านั้น แน่นอนว่า เฮลท์แคร์ คือโอกาส และในอนาคต บ้านต้องมีการปรับปรุง ให้เป็นสมาร์ทโฮม  การปรับไลฟ์สไตล์ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายผู้สูงวัย เช่น การเอาบ้านไปเข้าธนาคาร และธนาคารจ่ายเงินให้เราทุกเดือน โดยผู้สูงอายุมีสินทรัพย์ แต่ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง เป็นต้น”

ขณะที่ในเรื่องแรงงานสำหรับดูแลผู้สูงวัยนั้น ประเทศไทยยังมีความโชคดี เพราะเราอยู่ในภูมิภาคอาเซียน สามารถจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมธุรกิจด้วย เช่น แรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เพราะประเทศเหล่านี้กว่าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอีกหลาย 10 ปี

ทั้งนี้ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ที่ประเทศไทยกำลังผลักดันนั้น มองว่าประเทศไทยมีมากกว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” คือ เรามีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเรามีขีดความสามารถการแข่งขัน สามารถตอบโจทย์มากกว่า เช่น อาหาร สามารถทำเป็นธุรกิจให้ตอบโจทย์สังคมสูงวัย ให้มีดีต่อสุขภาพ และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และซีรีส์วาย เป็นต้น ซึ่งประเทศอื่นยังทำไม่ได้ ฉะนั้น เราจะใช้หนัง ละคร สร้างธุรกิจใหม่ให้เรา รวมถึงกีฬา และอีสปอร์ต สามารถใช้ต่อยอดให้คนอยากมาเที่ยวไทยได้ เป็นต้น