นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วาระสำคัญ คือ การนำหนังสือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เข้ามารับทราบในที่ประชุม
ทั้งนี้ ขอเรียนว่า หนังสือดังกล่าวยังเป็นเอกสารไม่ทางการ เนื่องจากปปช.ส่งถึงทำเนียบเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เข้าไม่ทันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ฉะนั้น กระบวนการที่เข้ามาในคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต จึงเป็นแบบไม่เป็นทางการ
"ปปช. ได้มีจัดการแถลงข่าวเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น ที่ประชุมก็จะรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของหนังสือ ความเห็นปปช. มาพิจารณาก่อน ส่วนหนังสือของป.ป.ช.จะเสนอ ในที่ประชุมครม.สัปดาห์หน้า”
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีวาระพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 2 ชุด คือ อนุกรรมการปราบปรามการทุจริต ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต และคณะอนุกรรมการทำงานเรื่องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ เพื่อรวบรวมมานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
ขณะที่เรื่องวิกฤติ หรือไม่วิกฤตนั้น ยังเป็นปัจจัยที่คณะกรรมการ ยังนำมาพิจารณาสนับสนุนในการทำโครงการ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การนิยามคำว่า “วิกฤต” หรือ “ไม่วิกฤต” แม้แต่ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลก็ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่เปราะบางและก็วิกฤตจริงๆ ดูได้จากตัวเลขที่หน่วยงานแถลงออกมาในช่วง 1-2 เดือนนี้ ไม่มีระดับทรงตัว มีแต่จะทรุดตัวลง ประกอบกับสภาวะหนี้ครัวเรือนสูง เรื่องอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้คนไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอยเท่าที่ควร
" ยืนยันว่าสำหรับโครงการดิจิทัลนั้น รัฐบาลมีแต่คำว่า “ทำ” เท่านั้น แต่เรื่องที่ว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้เมื่อไหร่นั้น ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะยังมีความแตกต่างกันทางความคิด ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจร่วมกัน แต่หากว่าคณะกรรมการมีมติที่ชัดเจนแล้ว ก็จะรีบมาบอกทันที"