“บีทีเอส” ลุยยื่นอุทธรณ์ ปมศาลปกครองยกฟ้อง “คดีสายสีส้ม” กีดกันการแข่งขัน

29 พ.ย. 2566 | 10:40 น.

“บีทีเอส” เดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อ หลังศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม เหตุทีโออาร์กีดกันการแข่งขัน เผยเบื้องลึกคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมินตรวจสอบคุณสมบัติ ITD เปิดช่องโหว่ร่วมชิงซอง BEM ส่อผิดกฎหมายฮั้วประมูล

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยว่า หลังจากศาลปกครองกลางยกฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 นั้น ปัจจุบันบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว ซึ่งศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีอีกครั้ง

 

ส่วนอีก 1 คดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คือ คดีที่บีทีเอสซีฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 กรณีแก้ไขเอกสารการประกวดราคาและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนถือเป็นการทุจริตละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบันศาลฯได้รับเรื่องอุทธรณ์จากบริษัทไว้พิจารณาแล้วเช่นกัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาบีทีเอสซีมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในกรณีที่การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่โออาร์กลางคันไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการยกเลิกการประมูลโครงการฯเมื่อปี 2563 ศาลได้ตัดสินว่าคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในปี 2565 พบว่าบีทีเอสซีมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองถึงประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในปี 2565 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทางรฟม.ยืนยันดำเนินการคัดเลือกเปิดประมูลตามกระบวนการ
 

ทั้งนี้พบว่ากระบวนการประมูลดังกล่าวไม่โปร่งใส เนื่องจากนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ( มหาชน ) หรือ ITD ที่ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษา โดยในเอกสารการประมูลระบุว่า หากผู้ที่เข้าร่วมประมูลโครงการฯเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามหรือเคยถูกพิพากษาตามที่กฎหมายกำหนดจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในโครงการภาครัฐได้ ซึ่งบีทีเอสได้มีการร้องเรียนถึงคณะกรรมการคัดเลือกฯในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายว่ามีคุณสมบัติตามประกาศหรือไม่ 

 

ขณะเดียวกันยังพบว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับปล่อยให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน )หรือ ITD ผ่านการประมูลในด้านคุณสมบัติเพื่อไปประมูลต่อในซองเอกสารด้านเทคนิค ถือเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายการฮั้วประมูลหรือไม่ 
 

หลังจากกระบวนการดังกล่าวนั้นบีทีเอสซีได้มีการร้องถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ จนกระทั่งฝ่ายค้านมีการนำเรื่องนี้ดำเนินการกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯยอมรับว่าไม่ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองอีกครั้งโดยมีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตรวจสอบในเรื่องนี้ 

“บีทีเอส” ลุยยื่นอุทธรณ์ ปมศาลปกครองยกฟ้อง “คดีสายสีส้ม” กีดกันการแข่งขัน

คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังระบุต่อคณะอนุกรรมาธิการฯว่า หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ตัวผู้ชนะการประมูลแล้วค่อยตรวจสอบ จากเหตุผลนี้ทำให้คณะอนุกรรมาธิการฯต่างคัดค้านว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะคณะกรรมการคัดเลือกฯควรตรวจสอบคุณสมบัติในการประมูลตั้งแต่ครั้งแรก และเชื่อว่าบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน ) หรือ ITD จะถูกปัดตกด้านคุณสมบัติ เท่ากับโครงการฯ มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ส่งผลให้โครงการที่ไม่เกิดการแข่งขัน หากกระบวนการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังดำเนินการต่อถือเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายการฮั้วประมูล