รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กรณีที่คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ครั้งที่1/2567 มีอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 29 มกราคมม 2567 ที่ผ่านมาเพื่อวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
เบื้องต้นการประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร้องเรียนเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อเดือน ธันวาคม2566
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 กำหนดให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ รฟม. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีบางคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการฯ
ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในการประชุมครั้งที่ 4/2566 ได้มีความเห็นว่าประเด็นข้อร้องเรียนของ BTSC มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ในการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้าเป็นคู่สัญญากับภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันได้ผลการคัดเลือกเอกชนโครงการฯ เป็นข้อยุติแล้ว
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น การใช้ดุลพินิจดังกล่าวข้างต้นจึงไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายและไม่ใช่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 โดยข้อเสนอฝ่ายเลขานุการฯ เห็นสมควรให้ความเห็นชอบตามความเห็นฝ่ายเลขานุการฯ ตามข้อ 5.2 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อพิจารณา ซึ่งจะมีการประชุมภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนรายงานนายกรัฐมนตรี
หากกระทรวงคมนาคมต้องการลบข้อกังขาเรื่องการใช้ดุลยพินิจก็สามารถดำเนินการได้ โดยที่ผ่านมาดีเอสไอให้ความเห็นว่าผลการประมูลไม่ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการฯนั่นหมายความคณะกรรมการไม่ได้ใช้ดุลยพินิจ แต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯ ละเว้นต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำให้กระบวนการที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามกฎหมายของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ถือเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย
“ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมทราบเรื่องนี้อยู่แล้ว ควรทำเรื่องนี้ให้เป็นความจริงตามที่ปรากฎให้หายเคลือบแคลงสงสัยว่าจะเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้องหรือไม่หรือเป็นการทำผิดกฎหมาย หรือละเว้นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ซึ่งการที่คณะกรรมการฯไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติเป็นการใช้ดุลยพินิจเพื่อไม่ตรวจสอบหรือไม่”
ขณะเดียวกันในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ผ่านมาพบว่าจากการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ เบื้องต้นผู้แทน สคร. และผู้แทนสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกและผู้ร่วมสังเกตการณ์ที่เห็นถึงความผิดปกติและการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ Request for Proposal (RFP)
นอกจากนี้ยังพบว่า เอกสารของ Incheon Transit Corporation ( TC) ผู้ร่วมยื่นข้อเสนอกับ ITD Group ยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนตามแบบที่กำหนดไว้ ได้แก่ โครงสร้างการจัดการของบริษัทหรือกลุ่มบริษัท, ข้อมูลเกี่ยวกับการฟ้องร้องหรือวินิจฉัยคดีโดยอนุญาตโตตุลาการในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา , สถานะทางการเงิน และเอกสารทำบัญชีที่ตรวจสอบและรับรองแล้วย้อนหลัง 3 ปี แต่ที่ปรึกษาโครงการ BMTO ได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก เว็บไซด์ ITC เสนอประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ITD Group ควรชี้แจงเอกสารข้อเสนอเพิ่มเติมและให้รฟม. ตรวจสอบข้อมูลการประเมินมาคณะกรรมการคัดเลือกอีกครั้ง
“ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าเอกสารของ ITC จำนวน 60 หน้า มาจากการหาข้อมูลในเว็บไซต์จริงหรือไม่หรือได้มีการจัดเตรียมเอกสารส่งมาในภายหลัง เนื่องจากวันที่ยื่นซองประมูลกับวันที่ประชุมในครั้งนั้นห่างกันถึง 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติหากมีการส่งข้อมูลในลักษณะนี้ เมื่อเทียบกับการประมูลของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะถูกปัดตกด้านคุณสมบัติในการประมูลทันทีแบบไม่มีข้อโต้แย้ง”
จากการหาข้อมูลเอกสารของ ITC ยังกลายเป็นปัญหาอีกว่าข้อมูลดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยคณะกรรมการคัดเลือก ITD Group ได้ดำเนินการจัดทำเอกสารเพิ่มเติม ในส่วนที่ ITC ไม่ได้ยื่นข้อเสนอไว้ตามแบบฟอร์มที่กำหนด รวมทั้งการรับรองข้อมูลของบุคคลอื่นสามารถดำเนินการได้ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากการรับรองข้อมูลนี้ถือเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งตามปกติควรผ่านการรับรองข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐหรือเจ้าของข้อมูลด้วยตนเอง อีกทั้งยังพบว่าในกรณีของเอกสารต้นฉบับเป็นภาษาเกาหลี จะต้องได้รับการแปลและรับรองโดยสถานทูตไทยในประเทศตามข้อกำหนด
สำหรับเอกสารเอกสารที่ต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อมูลที่เสนอ รวมถึงจากเว็บไซต์ของ ITC ทั้งหมด 4 รายการ ประกอบด้วย 1.โครงสร้างการจัดการของบริษัทหรือของกลุ่มนิติบุคคล มีข้อตกลงของกลุ่มนิติบุคคล (ITD Group Agreement) ระบุว่า ตามที่ยืนยันในหนังสือของ ITC ลงวันที่ 11 ก.ค.65 ซึ่งหนังสือของ ITC ระบุว่าในกรณี ITD ได้งาน ITC จะเป็นสมาชิกที่รับผิดชอบการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า
2.ข้อมูลเกี่ยวกับคดีฟ้องร้องหรือการวินิจฉัยโดยอนุญาโตตุลาการในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมาของ ITC 3.แบบฟอร์มสถานะทางการเงินของ ITC สามารถสืบค้นจากเว็บไซต์ของ ITC ซึ่งได้แสดงงบฐานะทางการเงิน รวมถึงงบกำไรขาดทุนของ 3 ปี ล่าสุด คือ ปี 2562-2564 4.เอกสารทางบัญชีที่ตรวจสอบและรองรับแล้วย้อนหลัง 3 ปีของ ITC สามารถสืบค้นจากเว็บไซต์ของ ITC ซึ่งได้แสดงงบฐานะทางการเงิน
รวมถึงงบกำไรขาดทุนของ 3 ปี ล่าสุด คือ ปี 2562-2564 ซึ่งเอกสารบางรายการได้เสนอข้อมูลไว้แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนและบางรายการไม่ได้เสนอเอกสารไว้ โดยที่ปรึกษาฯได้พิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฏในข้อเสนอรวมถึงค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ ITC เพื่อประกอบการพิจารณาเอกสารทั้ง 4 รายการ ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวสามารถเทียบเคียงได้กับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
ทั้งนี้เอกสารทั้ง 4 รายการเป็นที่น่าสังเกตว่าข้อมูลเหล่านี้ ITC กลับไม่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการฯตรวจสอบในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแม้แต่รายการเดียว ซึ่งเอกสารบางรายการที่ ITC กล่าวถึงเป็นเอกสารสาระสำคัญที่จำเป็นต้องยื่นในการประมูลโครงการฯ ทั้งนี้ยังพบว่าจากการชี้แจงเอกสารเพิ่มเติมนั้น ถือเป็นการหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงการส่งเอกสารเพิ่มเติมและไม่ดำเนินการตามกติกา เพราะฉะนั้น ITD Group ไม่ควรผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติในรอบแรก
อย่างไรก็ตาม การที่ที่ปรึกษาไปค้นหาในเว็บไซต์และปรากฏว่าไม่พบข้อมูล ไม่ได้การันตี ว่า Incheon จะไม่มีคดีหรือไม่เคยถูกฟ้องร้องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 5 ปี แล้วเหตุใดคณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม. ต้องช่วยค้นหาเอกสารข้อมูลและประเมินให้ Incheon ซึ่งอยู่ใน ITD Group ผ่านคุณสมบัติ
“หากการพิจารณาของกรรมการคัดเลือกเป็นไปตามรายงานประชุมฉบับนี้ถือเป็นการสุ่มเสี่ยงการกระทำนอกขอบอำนาจ และดูว่าเป็นการช่วยเหลือผู้เสนอบางราย เกินกว่าอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้เมื่อผลการคัดเลือกมีการรับรองข้อความที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาทบทวนผลการคัดเลือกครั้งนี้เองหรือไม่ และใครเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการคัดเลือก ที่ได้สรุปผลการคัดเลือกเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้เห็นชอบนำเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาจนมีข้อถกเถียงเป็นเหตุให้ต้องถอนวาระการประชุมในเดือน มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา”