KEY
POINTS
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. หนึ่งในสถาบันหลักภาคเอกชนที่ดูแลภาคการผลิตและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน กำลังจะมีการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่วาระปี 2567-2569 แทนนาย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานฯคนปัจจุบันที่กำลังจะครบวาระในสมัยแรก และกำลังจะต่อในสมัยที่ 2 ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาประธานฯจะดำรงตำแหน่ง 2 วาระรวม 4 ปี เพื่อให้แผนงานและนโยบายที่ทำมาใน 2 ปีแรกมีความต่อเนื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรม
แต่ในวาระปี 2567-2569 นี้ปรากฎชื่อนาย สมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สถาบันคาร์บอนเครดิต) ของ ส.อ.ท. และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ประกาศลงชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ทำให้บรรยากาศร้อนระอุขึ้นมาทันที
ศึกชิงประธาน ส.อ.ท.ครั้งนี้ถือเป็นสงครามของกลุ่มทุน หรือกลุ่มเจ้าสัวที่เป็นเจ้าของกิจการของกลุ่มทุนใหม่ คนรุ่นใหม่ ชนกับกลุ่มทุนเดิมที่ควบคุมทิศทาง ส.อ.ท.มาอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มพลังงานใหม่ที่ใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานสะอาดแทนพลังงานฟอสซิล ทั้งนํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งใครชนะจะสามารถส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็นคณะกรรมการต่างๆ ในหน่วยงานภาครัฐ ในนามตัวแทนส.อ.ท.
ดีเดย์เลือกกรรมการ 25 มี.ค.67
ทั้งนี้ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 จะมีการเลือกตั้งกรรมการ ส.อ.ท.ที่มาจากสมาชิกประเภทสามัญ (ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นนิติบุคคล และประกอบการอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน รวมถึง สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม) จากสมาชิก ส.อ.ท.1.6 หมื่นรายทั่วประเทศให้ได้กรรมการจำนวน 244 คน เพื่อนำไปรวมกับกรรมการประเภทแต่งตั้งอีก 122 คน (ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด) ซึ่งกรรมการทั้ง 366 คนจะไปเลือกประธานส.อ.ท.คนใหม่ภายใน 45 วัน หรือประมาณเดือนเมษายนนี้
อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่วาระปี 2567-2569 ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานคนที่ 17 ในครั้งนี้ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เฉพาะอย่างยิ่งการลงสมัครครั้งนี้ของนายสมโภชน์ อาหุนัย ได้รับการสนับสนุนจากนายสุพันธ์ มงคลสุธี อดีตประธาน ส.อ.ท.ที่ได้เข้าสู่วงการการเมืองอย่างเปิดเผย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานส.อ.ท.ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ ส.อ.ท. เผยว่า การเลือกตั้งประธานส.อ.ท.ครั้งนี้ตนสนับสนุนนายสมโภชน์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคนที่มีศักยภาพ เห็นความสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และทำงานในตำแหน่งรองประธานส.อ.ท.มาแล้วถึง 2 สมัยอีกทั้งยังมีจุดเริ่มต้นทางธุรกิจคล้ายกัน โดยเป็นเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีมาก่อน หลังจากนั้นจึงสร้างธุรกิจจนเติบโตหลักหมื่นล้านบาท
”สมโภชน์”อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง
นายสมโภชน์ อาหุนัย ได้แถลง เปิดใจในการลงสมัครประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ (29 ก.พ. 2567)ว่า ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลงใน ส.อ.ท.เพื่อช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยเติบโตและสามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง โดยหากตนได้รับการเลือกตั้งมีวิสัยทัศน์/ยุทธศาสตร์ 4 ประการที่จะขับเคลื่อน ได้แก่ 1.ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชน
2.สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก ส.อ.ท.ทั่วประเทศ 3.ประสานภาครัฐให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย-รายใหม่ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า และ 4.นำเอาความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีมาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับทุกมิติ ซึ่งแนวคิดข้างต้นตนต้องการดำเนินการมานาน และต้องการนำแนวคิดเพื่อให้เกิดอิมแพ็ค มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง ส.อ.ท.คือแกนหลักของประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต
“เกรียงไกร”ไม่หวั่นพร้อมแข่ง
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.คนปัจจุบัน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ตนพร้อมลงแข่งเป็นประธาน ส.อ.ท.ในวาระที่ 2 เพื่อสานงานของสภาอุตฯให้มีความต่อเนื่อง และเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในสมัยที่ 2 นี้ โดยจะยังสานต่อนโยบาย ONE FTI เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ประเทศไทยเข้มแข็งกว่าเดิม
ที่ผ่านมาในช่วงเกือบ 2 ปีตนก็มีผลงานที่เป็นรูปธรรมมากมาย สร้างความพึ่งพอใจให้กับสมาชิกทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่ร่วมกันทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากกว่าในทุกยุคที่ผ่านมาและอยากให้สานต่อ เช่น การขับเคลื่อน Next Gen Industry, อุตสาหกรรม BCG, Smart SMEs, Smart Service Platform, การเปิดแพลตฟอร์ม FTIX ซื้อขายคาร์บอนเครดิตแห่งแรกในเอเปก,ร่วมกับกรมบัญชีกลางจัดโครงการ “Made in Thailand RoadShow 5 ภูมิภาค” สร้างโอกาสสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยปัจจุบันมีการซื้อสินค้า MiT (Made in Thailand) แล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และยังมีผลงานอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องการจะสานต่อ
“จากที่หลายคนมีความฝันอยากจะเป็นประธาน ส.อ.ท. ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ว่าการคิด การฝัน การตีค่าตัวเอง คนที่เลือกเราคือสมาชิก ดังนั้นคนที่จะมาเป็นประธานสภาฯจะต้องมีเวลาให้ ส.อ.ท.มาอย่างน้อย 10-15 ปีขึ้นไป ขณะที่โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจะดำรงตำแหน่ง 2 บวก 2 คือเป็น 2 ปี และต่อได้อีก 2 ปีเพื่อให้งานมีความต่อเนื่อง และต้องพิสูจน์ผลงานให้สมาชิกได้เห็นและเป็นที่ยอม ซึ่งเมื่อมีคนลงรับสมัครแข่งผมก็พร้อมสู้”
ชี้ “เกรียงไกร”คะแนนเป็นต่อ
ด้านแหล่งข่าวจากหนึ่งในประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท.ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เท่าที่ซาวด์เสียงกรรมการจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ในจำนวนนี้ประมาณ 40 กลุ่มอุตสาหกรรม ยังให้การสนับสนุนนายเกรียงไกร เธียรนุกุล เป็นประธานสมัยที่ 2 เพราะอยากเห็นแผนงาน/นโยบายที่ทำมามีความต่อเนื่อง
ขณะที่ประมาณ 6 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนให้การสนับสนุนนายสมโภชน์ อาหุนัย เป็นประธานคนใหม่ ส่วนบริษัทบิ๊กเฟิร์ม หรือผู้แทนของบริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทประกาศตัวว่าจะสนับสนุนแบบแบ่งครึ่ง แต่บิ๊กเฟิร์มส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนนายเกรียงไกร ขณะที่มีบางบริษัทระบุจะวางตัวเป็นกลาง
รอสมัยหน้า “สมโภชน์”มาวิน
แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท. อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า การเสนอตัวลงชิงประธาน ส.อ.ท. ของนายสมโภชน์สร้างความประหลาดใจให้สมาชิกพอสมควร เพราะนายเกรียงไกร เพิ่งครบวาระที่ 1 และกำลังเสนอตัวเป็นประธาน ส.อ.ท.ในวาระที่ 2 ทั้งนี้นายสมโภชน์ถือเป็นผู้มีความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ทางอุตสาหกรรม ดูจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจจนประสบความสำเร็จ หากนายสมโภชน์รอให้ประธานคนปัจจุบันทำหน้าที่จนครบ 2 วาระ แล้วลงสมัครในอีก 2 ปีข้างหน้าเชื่อว่าจะไม่มีใครลงแข่ง
ขณะที่นายจำรัส สว่างสมุทร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า นายสมโภชน์ ในฐานะสมาชิกและรองประธาน ส.อ.ท.ชุดปัจจุบัน โดยบริหารงานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Institute) ได้มีวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนแปลง ส.อ.ท.พร้อมสนับสนุนให้ประเทศ อุตสาหกรรมต่างๆ และสมาชิกได้ประโยชน์ จึงเสนอตนเองเป็นอีกทางเลือกในการสรรหาประธาน ส.อ.ท.วาระปี 2567-2569
จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธาน ส.อ.ท.จะต้องได้รับคะแนนสนับสนุนจากกรรมการ ส.อ.ท.ข้างมาก ซึ่งกรรมการ ส.อ.ท.มาจากกรรมการจากการเลือกตั้ง กรรมการที่ได้รับการเลือกจากกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด จะมาทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.วาระปี 2567-2569
อย่างไรก็ดี กรรมการจากการเลือกตั้งเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกตั้งจากสมาชิกทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ผู้ที่ดูแลสายงานส่งเสริมและสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้เปรียบที่เข้าถึงคะแนนเสียงจากต่างจังหวัดที่มีมากกว่าคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ โดยในปัจจุบันมีนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท.เป็นผู้ดูแลนอกจากนี้ ประธาน ส.อ.ท.จะต้องได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบริษัทลูกหรือบริษัทย่อยกระจายในต่างจังหวัดจำนวนมาก ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีคะแนนเสียงของตัวเองในการลงคะแนนเลือกกรรมการ