ทั้งนี้จากอานิสงส์ของการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน ประเภทนํ้ามันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหาร และผักสดที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามนโยบายตรึงราคาเพื่อลดค่าครองชีพของรัฐบาล
ส่งผลให้ทั้งปี 2566 เงินเฟ้อไทยสูงขึ้นเพียง 1.23% จากที่เคยขึ้นไปสูงสุด 7.66% ในเดือนมิถุนายน 2565 จากผลกระทบต่อเนื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะรัฐบาลได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงต้นปี เช่น มาตรการ Easy E-Receipt ซื้อสินค้าและบริหารหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท, มาตรการซอฟต์ พาวเวอร์ 11 สาขา, การแจกโฉนดเพื่อการเกษตร 22 ล้านไร่, การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวเป้าหมายสร้างรายได้ 3.5 ล้านล้านบาท และไฮไลท์สำคัญคือ นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ที่ ณ เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เริ่มต้นปีมานี้เศรษฐกิจ และผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มจะเผชิญกับฝันร้ายที่อาจจะกลับมาอีกครั้ง ผลพวงจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญคือ หนี้ภาคครัวเรือน และหนี้นอกระบบที่สูงกดทับกำลังซื้อ เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จากเดิมที่จะแจกเดือนมกราคม เลื่อนเป็นกุมภาพันธ์ และล่าสุดเลื่อนออกไปจากเดือนพฤษภาคม และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นเมื่อใด และจะแจกได้จริงหรือไม่
“ผมพูดมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งตอนนั้นเรามองว่าการจุดหรือกระชากเศรษฐกิจให้ติด รัฐบาลจะต้องมีการเติมเงินเข้าไปในระบบเพื่อเร่งการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาท ถามว่าจะเป็นต้องมีมั้ย ตอนนั้นเราก็บอกว่าสมควรจะมี แต่เวลานี้เวลาได้ทอดยาวออกมา ซึ่งถ้าไม่ทันในเดือนพฤษภาคมอีก ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ของรัฐบาลที่ล่าช้า กว่าจะเบิกจ่ายได้คาดในเดือนพฤษภาคม หรือดีเลย์มา 8 เดือน เพราะฉะนั้นในช่วงสุญญกาศนี้ รัฐบาลจะต้องมีแผนสองในการกระตุ้น เศรษฐกิจรองรับ”
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งภาคการท่องเที่ยวสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเมืองหลัก ไม่ได้ลงไปที่เมืองรองหรือกระจายลงไปในส่วนลึก ๆ ทั่วประเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายใน ดังตัวอย่างที่รัฐบาลจีนทำคือ ส่งเสริมคนเที่ยวในประเทศ เพื่อสร้างเม็ดเงินให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มการสร้างงาน เพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงต้องทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงแหล่งทุน หรือสภาพคล่องเพื่อให้ฟื้นตัวกลับมาได้จริงหลังโควิด จากที่เวลานี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เช่น เอสเอ็มอีชั้นดียังต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 7.3% ถ้าชั้นไม่ดีดอกเบี้ยก็จะสูงกว่านี้
นอกจากนี้ผู้ประกอบการภาคการผลิตและส่งออกในปีนี้ยังมีต้นทุนที่สูงขึ้นจาก ค่าไฟฟ้า ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.18 บาทต่อหน่วยสำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 และงวดต่อไปยังมีแนวโน้มที่อาจต้องเสียถึง 4.20 บาทต่อหน่วย ค่าจ้างขั้นตํ่าที่ปรับขึ้น เป็น 330-370 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2-16 บาทต่อวัน และยังมีแนวโน้มปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันตามเป้าหมายของรัฐบาลในปีนี้
ส่วนปัจจัยภายนอก เวลานี้ผู้ส่งออกมีต้นทุนที่สูงขึ้น จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กรณีวิกฤตทะเลแดง กลุ่มฮูตียังมีการโจมตีเรือสินค้าของชาติตะวันตก ทำให้เรือส่วนใหญ่ที่บรรทุกสินค้าจากเอเชียไปยุโรปต้องเลี่ยงเส้นทาง โดยวิ่งอ้อมไปทางแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของแอฟริกาใต้ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 14 วันกว่าจะถึงจุดหมาย ทำให้มีค่าใช้จ่าย ที่เป็นต้นทุนแฝงของราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งค่าระวางเรือ ค่านํ้ามัน ค่าประกันความเสี่ยงภัย และค่าอื่น ๆ ที่สายเดินเรือเรียกเก็บเพิ่ม
“จากเดิมตู้สินค้าขนาด 40 ฟุตจากเอเชียไปยุโรป หรือยุโรปมาเอเชียอยู่ที่ประมาณ 1,500-1,800 เหรียญสหรัฐ แต่ทันทีที่เกิดปัญหาในทะเลแดงตั้งแต่เดือนธันวาคมต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้เรือต้องวิ่งอ้อม ส่งผลค่าระวางเรือเวลานี้พุ่งสูงขึ้นถึง 6,000 เหรียญต่อตู้ หากรวมค่าเซอร์ชาร์จต่าง ๆ เช่น บวกเพิ่มค่านํ้ามัน ค่าเสียเวลา ค่าประกันความเสี่ยง ที่สายเดินเรือเรียกเก็บเพิ่มบางจุดพุ่งไปถึง 1 หมื่นเหรียญต่อตู้ หรือเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ไปกว่า 3 เท่าตัวแล้ว หากสงครามขยายวงจะทำให้การค้าโลกที่คาดจะฟื้นตัวในปีนี้อาจจะสะดุดลง เหตุการณ์ซัพพลายเชนดิสรัปชั่นอาจกลับมาอีกครั้ง ราคาสินค้าจะแพงขึ้น เงินเฟ้อโลก ดอกเบี้ย และต้นทุนทุกอย่างอาจจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งต้องจับตามองนับจากนี้ไป”
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ทั้งหมดถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของปีนี้ ภาพเดิม ๆ กับฝันร้ายเริ่มกลับมา หากสงครามขยายวงมีหลายประเทศเข้าร่วมมากขึ้น ยังไม่นับรวมความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของอีกหลายคู่ของโลกที่อาจปะทุขึ้น ทิศทางเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ราคานํ้ามัน ต้นทุนโลจิสติกส์ ราคาวัตถุดิบ ราคาสินค้าโลกอาจจะกลับมาพุ่งอีกครั้ง และอาจกระทบกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมแผนรับมือให้ดี