KEY
POINTS
สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อผลการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) คนใหม่ เพราะผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธาน ส.อ.ท.จะต้องได้รับคะแนนสนับสนุนจากกรรมการ ส.อ.ท.เสียงข้างมาก ที่มาจากการได้รับการเลือกจากกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด
การเลือกตั้งประธานส.อ.ท.คนใหม่ในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันกันระหว่าง นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานฯคนปัจจุบันที่กำลังจะครบวาระในสมัยแรก และกำลังจะต่อในสมัยที่ 2 กับนายสมโภชน์ อาหุนัย ประกาศลงชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่
“ฐานเศรษฐกิจ” จึงได้ตรวจสอบความเห็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ต่างๆ ถึงแนวโน้มการลงคะแนนสนับสนุนผู้สมัครทั้ง 2 คน
ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซัมมิทฯ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันการเลือกประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนนายเกรียงไกร ประธานคนเก่ากับ ฝ่ายสนับสนุนนาย สมโภชน์ ที่ลงสมัครใหม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการเช็คเสียงสนับสนุนตกลงพูดคุยกัน
“ตนมองว่าไม่ได้อยากให้มีการแข่งขัน ซึ่งถ้าหากมีการแข่งขันเกิดขึ้นก็เกรงว่าจะมีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย หากกลุ่มในกลุ่มหนึ่งได้ขึ้นมาบริหารอีกกลุ่มหนึ่งก็จะหยุดการทำงานไป อยากให้การเลือกตั้งไปในทิศทางเดียวกัน“
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าคนที่จะเข้ามาบริหาร อยากให้เข้ามาผลักดันและทำให้อุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา ภาครัฐสนับสนุนให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเข้ามาก็มีการค้าขายกันเอง
ขณะที่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับการการสนับสนุนจากทางภาครัฐยังไม่ทำเต็มที่ ผู้ประกอบการไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับนักลงทุนต่างชาติน้อยมาก ทำให้ธุรกิจของคนไทยไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร
ด้านนายจีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา มองว่า สำหรับการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนใหม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการหาเสียง หรือเช็คเสียงสนับสนุนกระแสตอบรับกับอุตสาหกรรมจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ในมุมมองของตน อยากได้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนใหม่ ที่มีนโยบายผลักดัน เรื่องการค้าขายคาร์บอนเครดิต รวมถึง climate change การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในอนาคต และสามารถแข่งขันกับเวทีระดับโลกได้
“ในสมัยที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล สามารถบริหารงานได้ดี สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสภาอุตฯ โดยนโยบาย One FTI คือการหล่อหลอมให้อุตสาหกรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีในระดับหนึ่ง ในส่วนการใช้จ่ายงบประมาณส่วนกลางของสภาอุตฯ จากการพูดคุยกันมีการใช้จ่ายงบประมาณของสภาอุตฯค่อนข้างเยอะ เรื่องหนึ่งที่รับไม่ได้เลยคือการคอรัปชั่นแต่ในกรณีนี้ก็ได้มีการพูดคุยและแจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ไม่ได้มีการคอรัปชั่นแต่อย่างใด” นายจีรทัศน์ กล่าว
ขณะที่ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนใหม่ ได้มีการชูนโยบายเรื่อง climate change การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การค้าขายคาร์บอนเครดิต รวมพลังงานสะอาด
“เราก็มองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเค้ามองว่ามันเป็นวาระที่สำคัญที่เค้าจะผลักดันสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งสมัยของคุณเกรียงไกรไม่ค่อยผลักดันในเรื่องนี้มากนัก”นายจีรทัศน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้งนายเกรียงไกร และ นายสมโภชน์ แต่ละคนมีจุดแข็งแตกต่างกัน และเชื่อว่าหากท่านใดได้รับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งก็สามารถผลักดันและขับเคลื่อนอุตสากหรรมไทยได้เหมือนกัน
ขณะที่ นางปัทมา กฤษณรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือ ตอนบน1 กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนใหม่ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 ว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่าสนับสนุนใคร แต่อยากฝากการบ้านให้กับคนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เสนอต่อรัฐบาลให้เข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งตั้งแต่มีรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่เห็นนโยบายเชิงเศรษฐกิจที่เกิดเป็นรูปธรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนใหม่ ต้องเข้าไปกระตุ้นให้รัฐบาลเห็นถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ในเรื่องของค่าจ้างแรงงาน ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมองว่าท่ามกลางเศรษฐกิจย่ำแย่ จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมจะมาปรับค่าจ้างแรงงาน จากที่เพิ่งปรับไปเมื่อต้นปี ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น
นางปัทมา กล่าวอีก ประเด็นในเรื่องของดอกเบี้ยก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้มีสัญญานการตอบรับจากทางสถาบันการเงินที่จะมาช่วยพยุงธุรกิจให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้อยู่รอดต่อไปได้ ทั้งที่เคยมีการนำเสนอไปแล้วหลายครั้ง.จึงเป็นการบ้านของผู้นำคนใหม่ของภาอุตสาหกรรมต้องไปทำหน้าที่เจรจา และสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ต้องไม่มองข้าม Northern Economic Corridor (NEC )บิ๊กโปรเจคของภาคเหนือ ให้เกิดเป็ยรูปธรรม แต่ที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับคสามสำคัญในการขับเคลื่อน แต่หากว่าเกิดขึ้นได้ นั่นหมายถึงว่า จะเป็นอีกหนึ่งยุทธศาตร์ของภาคเหนือ ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าได้
นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ในการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนใหม่ คงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ คงจะต้องดูผลจากสมาชิกที่ลงคะแนนเป็นหลักว่าจะเป็นคนไหนเข้ามาบริหารงาน ซึ่งในส่วนของจังหวัด ยังไม่มีข้อเสนอใดๆ คงต้องดูนโยบายของผู้ลงสมัครทั้งหมด
ด้านแหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมภาคเหนือเปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณสมบัติต้องมีความตั้งใจในการพัฒนาทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคอุตสาหกรรมการเกษตร การผลักดันการการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ สามารถประสานงานประสานงานต่างประเทศร่วมกันกับรัฐบาลได้เพื่อเปิดช่องทางการค้าการลงทุนให้เข้ามาในประเทศ และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เกิดผลดีกับผู้ประกอบการ ในภาคอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต
การผลักดันอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ เช่นคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกฎระเบียบการค้าโลกใหม่ รวมถึงการผลักดันให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในดอกเบี้ยที่ต่ำและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ และสามารถแข่งขันได้กับนักลงทุนต่างชาติ
ปัจจุบัน บุคคลที่ลงสมัครเลือกตั้งประธานสภาอุตฯคนใหม่ มีข้อดีที่แตกต่างกัน
โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ก็มีความตั้งใจในการบริหารงานในสมัยที่ผ่านมาและสามารถทำงานในด้านต่างประเทศได้ดี และมีนโยบายกลยุทธ์ที่จะสามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยได้
ขณะที่นายสมโภช อาหุนัย ก็เป็นนักธุรกิจที่มีความชำนาญและมีความประสบสำเร็จในการทำธุรกิจด้านพลังงานสะอาด คาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน