นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 29 ก.พ. - 2 มี.ค. 67 ได้นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการชายแดนใต้ เช่น กิจกรรมลงนามความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กิจกรรมการเจรจาธุรกิจระหว่างเทรดเดอร์/บายเออร์จากส่วนกลางกับผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ประกอบการชุนชน จ.พัทลุง และ จ.สงขลา
รวมทั้ง ได้ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจ , รับฟังปัญหา/อุปสรรค ข้อเสนอแนะด้านต่างๆ และสอบถามความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ
โดยกลุ่มธุรกิจแรก ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ตรวจเยี่ยม 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท มาเรียโอเชี่ยน จำกัด เป็นธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ตั้งอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง สามารถช่วยให้กลุ่มชาวประมงในพื้นที่ขายวัตถุดิบได้ในราคาที่สูงขึ้น เน้นการจ้างงานคนในพื้นที่เป็นหลัก โดยปัจจุบัน มาเรียโอเชี่ยนส่งอาหารทะเลแปรรูปไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการนำผลกำไรที่ได้ส่วนหนึ่งกลับมาพัฒนาชุมชนและคนในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กลุ่มธุรกิจที่ 2 ธุรกิจสมุนไพร ตรวจเยี่ยม 2 แห่ง ได้แก่ (2.1) เครือข่ายปลูกสมุนไพรลังกาสุกะ ตั้งอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง โดยสมุนไพรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ลังกาสุกะ ได้รับการพัฒนาให้เป็น ‘ลังกาสุกะโมเดล’ ที่เข้ามามีบทบาทพัฒนาด้านสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2551 โดยนำหลักแพทย์แผนไทยมาใช้ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและยาสมุนไพรในราคาไม่แพง
รวมถึงช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพแก่คนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายอย่างแนบแน่น ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ในอนาคตจะมีการพัฒนายาสมุนไพรให้เป็นสินค้า ‘พรีเมียม โปรดักส์’ นำไปสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาทางสังคม และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันยังได้เยี่ยม (2.2) บริษัท ศยาสมุนไพร จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองปัตตานี เป็นนิติบุคคลที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์ ‘ศยาสมุนไพร’ ปัจจุบันจะผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกาย เช่น โรลออน แชมพู สบู่ โลชั่น ยาดม น้ำมันเหลือง น้ำมันนวด และน้ำมันมะพร้าว
นอกจากนี้ ยังรับสร้างแบรนด์ให้กับลูกค้าที่ต้องการเริ่มต้นหรือต่อยอดธุรกิจ โดยจะเข้าไปช่วยผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อ.ย. มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) OTOP (โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย) เครื่องหมายฮาลาล และได้รับรางวัล OTOP 4 ดาว ประจำปี พ.ศ.2562 (สำหรับแชมพู สมุนไพรและโรลออนศยา) ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า ศยาสมุนไพรเป็นแบรนด์คุณภาพ ลูกค้าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพได้อย่างปลอดภัย
และธุรกิจกลุ่มที่ 3 ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ตรวจเยี่ยม 1 แห่ง คือ บริษัท ภรณ์นิเวศน์ ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ตั้งอยู่ อ.เมืองปัตตานี เป็นธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่มานานกว่า 37 ปี ปัจจุบันมีสัดส่วน คือ ธุรกิจค้าส่ง 40% และ ค้าปลีก 60% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เน้นขายสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน ราคาประหยัด
โดยมีการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดประชาชนเข้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า การบริหารจัดการธุรกิจจะให้ความสำคัญต่อลูกค้าเป็นลำดับแรก และเปิดโอกาสให้พนักงานภายในร้านมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ พนักงานถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้แผนกลยุทธถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้องค์กรบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายร้านค้าปลีกประมาณ 50 ร้านค้า และคอยให้คำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการให้แก่ร้านค้าปลีกที่เป็นสมาชิกด้วย บริษัท ภรณ์นิเวศน์ ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อปี 2559 และให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับกรมฯ มาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้รับฟัง พูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว ก็จะทำการสรุปความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจแต่ละพื้นที่อย่างครบวงจร โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและประชากรในชุมชน ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า ‘ธุรกิจท้องถิ่น’ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในพื้นที่ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง
ขอเชิญชวนนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุนใน จ.ปัตตานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งศักยภาพของผู้คนในชุมชน แหล่งทรัพยากรในพื้นที่ที่สมบูรณ์ ภาคีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน และที่สำคัญ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจลง 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2569 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ดึงดูดนักธุรกิจให้เข้าลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567) มีนิติบุคคลคงอยู่จำนวนทั้งสิ้น 1,678 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 9,454.66 ล้านบาท ประเภทธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่
สามารถแบ่งเป็นขนาดธุรกิจได้ ดังนี้