วันนี้ (3 มีนาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม โดยได้ขอให้ไปพิจารณาเนื้อหารายละเอียดเพิ่มเติมของร่างกฎหมาย เพราะต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เกิดสมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพ และมิติกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ จึงมอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานไปตรวจสอบรายละเอียดว่า สิ่งที่การท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจ ความต้องการการค้า ต้องการการผ่อนปรนในด้านใดบ้าง จากนั้นจึงเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ และเมื่อ ครม.เห็นชอบอีกครั้งแล้ว ก็ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำไปประมวลก่อนส่งไปรัฐสภาตามขั้นตอนต่อไป
“ครม. เห็นด้วยในหลักการว่า พ.ร.บ.เดิม จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนายกฯ ได้สั่งการไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันที่ประชุมครม. ก็เห็นความสำคัญทางด้านสุขภาพ เรื่องความปลอดภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ ก็เรื่องสำคัญ ดังนั้นจึงขอให้ทบทวนสาระให้เกิดสมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพ และมิติกระตุ้นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวด้วย” นายชัย ระบุ
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ มีการกำหนดคำนิยามใหม่ ทั้ง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” “การสื่อสารการตลาด” และ “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เดิมกฎหมายไม่ได้ระบุว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ว่าไม่เกินเท่าไหร่ ทำให้อยู่ที่การตีความ ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงระบุชัดว่า หากแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% ไม่ถือว่า เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ยังเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น เพิ่มผู้แทนจากกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และให้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีที่รักษาการตาม พ.ร.บ. โดบกำหนดไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ขาย หรือสถานบริการ รวมทั้งเพิ่มโทษหากละเมิดดื่มในจุดที่ห้ามขาย จะมีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติรับทราบข้อสังเกต ข้อเสนอของร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....) จำนวน 3 ฉบับ นำไปประกอบกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สธ. เสนอ
สำหรับร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มีหลักการเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสมดุล แต่เนื่องจากรายละเอียดของการแก้ไขปรับปรุงยังคงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับระดับความเข้มงวดของการควบคุมและการผ่อนปรนมาตรการที่อาจยังไม่นำไปสู่ความสมดุลที่เหมาะสม รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกลไกการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละร่างฯ ยังคงมีความแตกต่างกันมาก
โดยครม. มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รับประเด็นข้อเสนอแก้ไขตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สธ.เสนอ
พร้อมกับการพิจารณาคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวมถึงประเด็นการปรับปรุงกลไกคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ มีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน โดยไม่สร้างอุปสรรคหรือภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินสมควร และทำให้ร่างกฎหมายได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อผลักดันร่างพระราบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป