ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การดำเนิน “นโยบายการเงิน” ของธนาคารกลางแต่ละประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ ไว้ภายใต้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 โดยประเมินว่า ในปี 2567 ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น
ทั้งนี้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายลงและเคลื่อนไหวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีภาวะการเงิน (Financial Conditions Index) ที่จัดทำและเผยแพร่โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)
จากข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2562 ถึง 2566 พบว่าดัชนีดังกล่าวในประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรป เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่านโยบายการเงินในระยะถัดไปจะมีความผ่อนคลายลง ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น จีน ดัชนีภาวะการเงินยังคงในระดับสูงกว่า 0
สะท้อนถึงภาคการเงินที่ยังคงมีความตึงตัวอยู่ แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินก็ตาม เนื่องจากภาคการเงินจีนยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน
สศช. มองว่า ด้วยเหตุนี้ ในปี 2567 การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ อาจมีความแตกต่างกันมากขึ้นและจะส่งผลต่อแนวโน้มความผันผวนของภาคการเงินโดยรวม ทั้งในมิติของเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงานและทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปเปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ ภายใต้แนวโน้มความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลให้การประเมินทิศทางของเงินเฟ้อและสถานการณ์ของภาคการเงินเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศในระยะต่อไป จึงจำเป็นต้องเตรียมเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเสริมให้นโยบายการเงินมีประสิทธิผลและสามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ให้อยู่ในกรอบของเป้าหมายนโยบายการเงิน
ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งที่ 1/2567 ที่ประชุมเห็นว่า ตลาดการเงินโลกสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น (risk-on sentiment) ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นและเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าประเทศในภูมิภาคมากขึ้น
ส่วนหนึ่งจากการคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักภายในปีนี้โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนภาวะการเงินในประเทศโดยรวมทรงตัว โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ทรงตัวใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนยังได้รับสินเชื่อใหม่อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากการชดใช้คืนหนี้ที่กู้ยืมจากมาตรการช่วยเหลือพิเศษในช่วงโควิด-19 หลังจากสภาพคล่องภาคธุรกิจเริ่มทยอยฟื้นตัว ผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้โดยมีธุรกิจ SMEs บางส่วนที่เผชิญกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นและภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์เงื่อนเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
ดังนั้นคณะกรรมการ กนง. จึงมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี โดยเห็นว่าในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ