สศช.จับตา "กู้สินเชื่อทะเบียนรถ" พุ่ง หนี้ครัวเรือน Q3/66 แตะ 16.2 ล้านล้าน

04 มี.ค. 2567 | 03:18 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 03:36 น.

สศช. เปิดภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2566 ชี้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย น่าห่วง Q3/66 ยังพุ่งกระฉูด 16.2 ล้านล้าน ครัวเรือนยังเปราะบาง หนี้สินมาก จับตากู้สินเชื่อทะเบียนรถ เพิ่มต่อเนื่อง

วันนี้ (4 มีนาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2566 ว่า สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไทย ไตรมาสสาม ปี 2566 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่ก็ยังอยู่ในสัดส่วนที่สูง โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9%

ทั้งนี้แม้ข้อมูลจะพบว่า ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ แต่ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็น 3.5% จาก 3.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือนบางกลุ่ม ทั้ง กลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้เงิน หรือนำไปจ่ายหนี้สินหรือรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย

ส่วนคุณภาพสินเชื่อ พบว่าด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ จากข้อมูลธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาสสาม ปี 2566 พบว่า ยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.9% จาก 2.7% ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน 

อีกทั้งครัวเรือนบางกลุ่มยังเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง เมื่อพิจารณาตามประเภทสินเชื่อ พบว่า คุณภาพสินเชื่อยังด้อยลงทุกประเภท โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 3.24% และ 3.34% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อยานยนต์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จาก 2.05% ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 2.10% 

นายดนุชา กล่าวว่า หากพิจารณาหนี้ที่มีการค้างชำระ 1 - 3 เดือน (SMLs) พบว่า ภาพรวมสัดส่วน SMLs ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ 6.7% แต่หนี้ SMLs ของสินเชื่อยานยนต์ ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์คุณภาพหนี้ยานยนต์ข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลสถิติการยึดรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 - 30,000 คันต่อเดือน จากปี 2565 ที่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คันต่อเดือน

ทั้งนี้ สศช. มีข้อเสนอแนะในประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้

1. การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดย Responsible Lending ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 มีมาตรการสำคัญประกอบไปด้วย การช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้, ลูกหนี้เรื้อรังสามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ 

โดยการควบคุมเนื้อหาโฆษณาให้ถูกต้องชัดเจนและไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร การเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินของลูกหนี้ รวมถึงการให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาทั้งกลุ่มลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ แต่ยังต้องติดตามการเข้ารับความช่วยเหลือของกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง

2. การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับขยายตัวสูงถึง 15.6% ขยายตัวในระดับสูง ตั้งแต่ไตรมาสสอง ปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งในไตรมาสสาม ปี 2566 ขยายตัวสูงถึง 40.2% 

สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่อนุมัติเร็วและง่าย แต่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น และมีแนวโน้มจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกู้ยืมเพื่อเติมสภาพคล่อง และหนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 4.0% เพิ่มขึ้น จากปลายปี 2564 ที่มีสัดส่วนเพียง 2.4%

3. การติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอก ซึ่งต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ หรือเปลี่ยนหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ ซึ่งอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่เป็นกลุ่มที่มีเครดิตไม่ดีนัก รวมทั้งต้องมีการติดตามความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง 

อีกทั้งประเด็นหนึ่งที่อาจต้องพิจารณาร่วมกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ คือ การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งรายงานการสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทย ในปี 2565 ของธปท. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กลุ่มดังกล่าวยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ โดยมีสาเหตุมาจากฐานะทางการเงิน หรือรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และผลิตภัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบได้ในอนาคต