"ผลกระทบของผู้บริโภค” หลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม จากกรณีการควบรวมธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดโทรคมนาคม
สรุปปัญหาและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค อยู่ในรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส4 และภาพรวมปี2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ที่มีการแถลงไปเมื่อ 4 มี.ค. 67
รายงานของสภาพัฒน์ระบุตอนหนึ่งว่า การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงาน กสทช. มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 451 เรื่อง ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1 โดยด้านที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดยังคงเป็นด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ 298 เรื่อง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามประเด็นปัญหา พบว่า ส่วนใหญ่มาจากการไม่สามารถยกเลิกบริการได้/ยกเลิกได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรม รองลงมาเป็นมาตรฐานการให้บริการ อาทิ การให้บริการที่ไม่เป็นไปตามโฆษณา การถูกเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการโดยไม่ได้รับความยินยอม/แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุว่า “มีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ” คือเรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม
จากกรณีการควบรวมธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดโทรคมนาคม ส่งผลให้ราคาค่าบริการรายเดือนของโทรศัพท์มือถือปรับตัวเพิ่มขึ้นและบางโปรโมชันยังถูกลดนาทีค่าโทรลง อาทิ แพ็กเกจราคา 349 บาท ปรับราคาขึ้นเป็น 399 บาท พร้อมทั้งมีการลดปริมาณและความเร็วอินเทอร์เน็ตลง
ขณะที่แพ็กเกจราคา 499 และ 599 บาท ถูกลดนาทีค่าโทรลงจาก 300 นาที เหลือ 250 นาที
อีกทั้งผู้บริโภคยังเริ่มประสบปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณมากขึ้น จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายมือถือทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81 พบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาโดยเครือข่ายของบริษัทที่มีการควบรวมคือ
โดยร้อยละ 91 ของผู้ได้รับผลกระทบเคยร้องเรียนไปยังคอลเซ็นเตอร์ของเครือข่ายที่ใช้บริการแล้วแต่ยังพบปัญหาอยู่เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงาน กสทช.จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการควบรวม อาทิ การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลงร้อยละ 12 เพื่อควบคุมราคาค่าบริการ แต่จากสถานการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้เท่าที่ควร
ขณะที่ในต่างประเทศ อาทิ ออสเตรีย ได้กำหนดเงื่อนไขการควบรวมธุรกิจ T-Mobile และ tele.ring ในปี 2006 ให้ผู้ควบรวมต้องขายคลื่นความถี่และเสาสัญญาณบางส่วนให้กับผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการรายเล็กมีโครงข่ายที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าบริการไม่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้คุณภาพสัญญาณดีขึ้นและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น
ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม จึงควรมีการทบทวน/เพิ่มเติมแนวทางการกำกับดูแลที่ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น
อาทิ การกำหนดเพดาน/ควบคุมราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ยให้เหมาะสม ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่อย่างจริงจัง