นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 30 (9 มี.ค. 2567) ณ แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เห็นชอบแผนงานสำคัญที่เป็นกรอบการทำงานของเสาเศรษฐกิจอาเซียนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2567 ภายใต้วาระการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว พร้อมหารือสองฝ่ายผลักดันการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน และการส่งออกผลไม้ผ่านแดนไปยังจีน
ทั้งนี้อาเซียนให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่ภาคี เพื่อให้อาเซียนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการการผลิตของโลก ผ่านความตกลงการค้าเสรี ( FTA) 2 ฉบับสำคัญของอาเซียน ได้แก่ 1.การเร่งรัดให้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ มีผลใช้บังคับภายในปี 2567 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนจากความตกลงฯ ที่ปรับปรุงพันธกรณี ให้มีความทันสมัย รองรับกับรูปแบบการค้ายุคใหม่ รวมทั้งเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกในการส่งออกไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มากขึ้น และ
2.การผลักดันการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ให้มีความคืบหน้าสำคัญ เช่น การลดและยกเลิกภาษีสินค้าเพิ่มเติม การเปิดเสรีด้านการลงทุน และความร่วมมือกับจีนในสาขาใหม่ ๆ อาทิ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากอาเซียนจะเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคแล้ว ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนให้สอดรับกับแนวโน้มการพัฒนาของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นที่ยอมรับในสากล ผ่านการจัดทำยุทธศาสตร์ลดช่องว่างการพัฒนาและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ขณะเดียวกัน อาเซียนได้เตรียมวางรากฐานของภูมิภาคเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผ่านแผนงานสำคัญ อาทิ 1.การปรับปรุงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ให้เป็นรูปแบบใหม่ ที่สามารถเชื่อมโยงแพลตฟอร์มทางการค้าใหม่ ๆ เข้ากับระบบปัจจุบัน 2. การจัดทำโรดแมป เพื่อสร้างให้การค้าดิจิทัลในอาเซียนมีมาตรฐานเดียวกัน และ 3. การพัฒนาหมายเลขทะเบียนนิติบุคคลเดียวที่สามารถเทียบเคียงและยอมรับร่วมกันได้ในอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้พร้อมกับการค้ายุคใหม่
นายนภินทรฯ กล่าวอีกว่า อาเซียนได้คำนึงถึงระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ต่างกันของประเทศสมาชิก จึงเตรียมเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มที่ ผ่านการจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางการค้าดิจิทัลในอาเซียน ให้ประเทศสมาชิกมีกรอบกติกาด้านการค้าดิจิทัลที่เหมือนกัน เปิดกว้าง และปลอดภัยในการทำธุรกรรมด้านดิจิทัลระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้การประกอบธุรกิจและผู้บริโภคได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และจะช่วยส่งเสริมการค้าสินค้าและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องให้เติบโต รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ภูมิภาคก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก ภายในปี 2030
ในระหว่างการประชุม นายนภินทรฯ ได้หารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม (นายเหงียน ซิง หยิด เติญ) ที่รับปากจะช่วยอำนวยความสะดวกการตรวจปล่อยสินค้าผลไม้ของไทยผ่านแดนต่อไปยังจีนในช่วงฤดูผลไม้ที่เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม
อีกทั้งได้พบหารือกับ รัฐมนตนรีว่าการกระทรวงการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเมียนมา (ดร.คาน ซอร์) เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่เกิดขึ้นจากการเผาซากพืชเกษตร ซึ่งเมียนมายินดีร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้จากไทย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร
“รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดประชุมติดตามผลการดำเนินการอีกครั้งในเดือนกันยายน 2567 ก่อนนำเสนอผลลัพธ์สำคัญต่อผู้นำอาเซียนในเดือนตุลาคมนี้ “ นายนภินทร กล่าว