รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2566 ล่าสุด อินโดนีเซีย ยังครองอันดับ 1 ประเทศที่มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่สุดของอาเซียน โดยมีมูลค่าจีดีพี 1.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีดีพีในปี 2566 ขยายตัว 5.0% , อันดับ 2 ประเทศไทย มูลค่าจีดีพี 512,193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 (ขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน)
อันดับ 3 สิงคโปร์ มูลค่าจีดีพี 497,347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.1% , อันดับ 4 ฟิลิปปินส์มูลค่าจีดีพี 435,675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.3%, อันดับ 5 เวียดนาม มูลค่าจีดีพี 433,356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.7% , อันดับ 6 มาเลเซีย มูลค่าจีดีพี 430,895 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.0%
อันดับ 7 เมียนมา มูลค่าจีดีพี 74,861 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.8%, อันดับ 8 กัมพูชา มูลค่าจีดีพี 30,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.5%, อันดับ 9 บรูไน มูลค่าจีดีพี 15,153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.9% และอันดับ 10 สปป.ลาว มูลค่าจีดีพี 14,244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.0% เมื่อเทียบกับปี 2565
ขณะที่คาดการณ์ขยายตัวของจีดีพีของ 10 ประเทศกลุ่มอาเซียนในปี 2567 คาดการณ์จีดีไทยยังขยายตัวอยู่ในอันดับ ท้าย ๆ ของอาเซียนโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดจีดีพีไทยจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.2-3.2% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านคาดจีดีพีจะขยายตัวเฉลี่ยที่ระดับ 3-6%
“ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ พึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก รองลงมาคืออุตสาหกรรม และภาคเกษตร โดยอาเซียนพึ่งพาภาคบริการเฉลี่ยสัดส่วน 52% พึ่งพาภาคอุตสาหกรรม 37.6% และภาคเกษตร 10% โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่เศรษฐกิจมาจากภาคบริการมากที่สุด ตามด้วยฟิลิปปินส์ สำหรับสัดส่วนการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมพบว่า ประเทศที่มีการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเกินค่าเฉลี่ยมีเพียงประเทศอินโดนีเซีย”
ขณะเดียวกันประเทศอาเซียนที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเน้นนอกภาคเกษตรเป็นหลักคือ เวียดนาม (ปี 2030 ตั้งเป้าหมายเป็นประเทศ Upper Income Country) และอินโดนีเซีย (ปี 2045 ตั้งเป้าหมาย GDP 7 ล้านล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่มาเลเซีย เน้นปรับโครงสร้างประเทศเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยไปพร้อมกับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งภูมิภาค
ปัจจุบัน ประเทศในอาเซียนด้วยกัน มีสิงคโปร์ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยวัดจากรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปี ส่วนประเทศมาเลเซียและไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง ในขณะที่อินโดฯ และฟิลิปฟินส์ เป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำ
อนึ่ง ธนาคารโลกให้คำจำกัดความ เมื่อ 1 ก.ค. 2566 ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle-Income Economies) มีรายได้ตั้งแต่ 4,450-13,845 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower Middle Income) มีรายได้ต่อหัว 1,136 - 4,465 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง โดยรายได้ต่อหัวคนไทย 7,230 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ขณะที่มาเลเซีย เฉลี่ยที่ 11,780 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี