เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสนำคณะเยี่ยมชมบริษัทเทสล่า (Tesla) บริษัทของสหรัฐอเมริกา
ผู้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้า และส่วนประกอบระบบส่งกำลังของยานพาหนะไฟฟ้า โดยผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla รุ่น Model S, Model 3, Model X, Model Y
ครั้งนั้นนายเศรษฐา ระบุว่า มีการพูดคุยกับผู้บริหารของ Tesla ที่สนใจเข้าลงทุนในไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่ทาง Tesla ให้ความสนใจสูงสุด คาดว่าจะสามารถตัดสินใจได้ในไตรมาสแรกของปี 2567 และเจ้าหน้าที่ Tesla จะเดินทางไปประเทศไทย เพื่อไปดูที่ตั้งโรงงาน ซึ่งเอกชนไทย เป็นผู้เสนอ จำนวน 3 แห่ง
อย่างไรก็ดี เวลานี้ก็ใกล้จะถึงกำหนดครบไตรมาส 1/67 ตามวันเวลาที่นายเศรษฐาระบุ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องการลงทุนในประเทศไทยของเทสลายังคงดูนิ่งสนิท ไม่มีความเคลื่อนไหว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความคืบหน้าล่าสุดของ "ฐานเศรษฐกิจ" ไปยังแหล่งข่าว พบว่า
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เทสล่าได้เข้ามาดูพื้นที่ลงทุนในไทย หลังนายเศรษฐา โรดโชว์สหรัฐอเมริกาและได้เชิญชวนเทสล่าเข้ามาลงทุน โดยเงื่อนไขการลงทุนของเทสล่าคือ ต้องใช้พื้นที่ลงทุน 2,000 ไร่ เป็นผืนเดียวกัน
แต่พื้นที่ลงทุนของไทยในนิคมฯไม่เพียงพอ ทั้งของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกนอ. และนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน เพราะปกติการจัดตั้งนิคมฯจะใช้พื้นที่ประมาณ 1,000-2,000 ไร่ และการลงทุนจะใช้หลักร้อยไร่ต่อราย เช่น บีวายดี (BYD) ใช้ 600 ไร่จึงสามารถหาได้ทันที
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเทสล่ากำลังพิจารณาที่ดินย่านลาดกระบัง 2,000 ไร่ แต่ไม่ใช่นิคมฯ จึงต้องดูว่าจะปิดดีลได้หรือไม่ และพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เกิดปัญหาผังเมืองตามมา
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายเศรษฐาได้สั่งการให้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าหารือเพื่อแก้ปัญหาผังเมืองอุตสาหกรรมไม่เอื้อการลงทุนอย่างจริงจัง รวมถึงให้หารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อปลดล็อกอุปสรรคครั้งนี้
เนื่องจากตัวเลขการลงทุนปี2566 ที่เติบโตต่อเนื่องถึงปีนี้ จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) รวมถึงยอดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) และยอดเช่า/ซื้อที่ดินของ กนอ.และนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายลงทุน
และรัฐบาลนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นำคณะรัฐบาลออกไปชักจูงการลงทุนในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ล่าสุดได้รับเสียงสะท้อนจากนักลงทุนจำนวนมากว่าผังเมืองภาคอุตสาหกรรมของไทยพบปัญหาไม่เอื้อต่อการลงทุน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา
"ตัวอย่างนักลงทุนที่ร้องเรียน เช่น ญี่ปุ่นที่มีที่ดินติดปัญหาเคยมีลำน้ำสาธารณะที่ปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว นักลงทุนเสนอขุดลำน้ำให้ใหม่แต่ชุมชนไม่ยอม นอกจากนี้ยังพบว่า เทสล่า ต้องการที่ดินลงทุนผลิตรถอีวีจำนวนมากถึง 2,000 ไร่ แต่ผังเมืองไม่เอื้อ"