นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินการร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เพื่อส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา รองรับการบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป
ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนธ.ค.2567 โดยจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราในสภาพยุโรปได้มากขึ้น สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมปี 2567-2568 คาดว่ายังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและความต้องการใช้ จากภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ เช่น กลุ่มยานยนต์ ถุงมือยาง อุปกรณ์การแพทย์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มในการใช้ยางในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น
โดยขณะนี้มีนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศ 2 ราย ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน ซึ่ง กนอ.มีความพร้อมด้านพื้นที่รองรับการลงทุนทั้งในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์ ซิตี้) จ.สงขลา ประมาณ 400-500 ไร่ และในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ด้วย
"กนอ. เล็งเห็นว่า กยท. เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ"
นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ กยท. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวนี้จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด และการประกอบธุรกิจ
อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้จะสามารถผลักดันราคายางให้สูงขึ้นได้ถึงตัวเลข 3 หลัก ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้เข้าประเทศ 200,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 85 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) สร้างรายได้แล้วกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ามาดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 49 บาท/ก.ก. และนำไปสู่เป้าหมายไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราโลก
“นโยบายส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเฉพาะล้อยาง ช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 400,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันผลักดันผลผลิตยางที่ได้มาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้แล้ว 1 ล้านตัน จากกำลังการผลิตได้ทั้งสิ้น 14 ล้านตัน ตั้งเป้าหมายปีนี้ตรวจสอบย้อนกลับได้ 2 ล้านตัน และปี 2568 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 6 ล้านตัน”