แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการหารือร่วมกันระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งคณะนักธุรกิจของสหรัฐฯ นำโดยประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการตอบรับที่ดีจากนักธุรกิจสหรัฐฯ ซึ่งสนใจเข้ามาลงทุนในไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ได้เป็นหัวหน้าทีมในการดึงดูดนักลงทุนจากสหรัฐฯ ภายหลังม.ล.ชโยทิต เป็นผู้ที่เดินสายลงไปหารือในรายละเอียดกับภาคเอกชนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และจากนี้อาจมีการตั้งทีมที่จะหารืออย่างใกล้ชิดเพื่อดึงเข้ามาลงทุนต่อไป
“การหารือระหว่างนายกฯ และรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลตั้ง ม.ล.ชโยทิต ไปคุยรายละเอียดของการทำงานร่วมกันกับเอกชนมาแล้ว และจากนี้จะเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อดุงดูดเข้ามาลงทุนในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย เพราะปัจจุบันไทยกำลังดันเมกะโปรเจกต์ เช่น แลนด์บริดจ์ รวมไปถึงส่งเสริม EV อุตสาหกรรมสีเขียว ดาต้าเซ็นเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสหรัฐฯ ได้เห็นศักยภาพของไทยแล้ว” แหล่งข่าวระบุ
ด้าน นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอ พร้อมใช้เครื่องมือส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ดึงนักลงทุนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และหากต้องการใช้ช่องทางของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขัน ซึ่งมีสิทธิประโยชน์พิเศษอยู่ ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ ซึ่งทางบีโอไอ พร้อมพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม
สำหรับการหารือร่วมกันของนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ในประเด็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ นั้น ได้หารือกันถึงแนวทางที่จะขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของไทย ทั้ง เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยเปิดรับภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยไทยมีจุดแข็งในหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน
รวมถึงรัฐบาลกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้ง่ายมากขึ้น และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐฯ และแนวโน้มของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยินดีที่ได้มามาเยือนไทยในครั้งนี้ ซึ่งได้มีโอกาสหารือกับหลายกระทรวง รวมถึงคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ให้เป็นรูปธรรม
พร้อมกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและความพยายามของรัฐบาลในการแสดงบทบาทเชิงรุก ผ่านการเดินทางไปพบปะหารือกับทางผู้นำรัฐบาลและภาคเอกชนในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดี สามารถสร้างการรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง