“เศรษฐา” การันตี สหรัฐฯ ขึ้นเบอร์ 1 ลงทุนไทย ปักธงลุยเซมิคอนดักเตอร์ EV

14 มี.ค. 2567 | 12:20 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 12:20 น.

นายกฯ “เศรษฐา” หารือ รมว.พาณิชย์ สหรัฐฯ พร้อมคณะเอกชน ดันความร่วมมือเศรษฐกิจ เชื่อสหรัฐฯ ขึ้นเบอร์ 1 การลงทุนไทย พร้อมลุยเซมิคอนดักเตอร์ EV พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจดิจิทัล

วันนี้ (14 มีนาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ในประเด็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)

 

นายกรัฐมนตรี หารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา

 

นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้หารือกันถึงแนวทางที่จะขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของไทย ทั้ง เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และเศรษฐกิจดิจิทัล 

“เมื่อวันก่อนท่านรัฐมนตรีได้กล่าวกับท่านรองนายกฯ ภูมิธรรมว่า แม้ว่าตอนนี้การลงทุนจากสหรัฐในไทยจะอยู่อันดับที่ 3 แต่หากเราทำถูก ทำถึง เราสามารถเป็นเบอร์ 1 ได้ครับ ทั้งนี้ ทางสหรัฐมีความตั้งใจที่จะ Supercharge การลงทุนในภูมิภาคนี้ และถ้าทั้งไทยและสหรัฐ รวมถึงประเทศใน IPEF ร่วมมือกันในเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งซัพพลายเชน ทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน และการลงทุนจากสหรัฐในไทยจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”

 

นายกรัฐมนตรี หารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา

สำหรับการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงความร่วมมือหลายด้าน ประกอบด้วย ขยายการค้าและการลงทุน นายกฯ และรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ

โดยไทยพร้อมรองรับให้ภาคเอกชนสหรัฐฯขยายฐานการผลิตในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เศรษฐกิจสีเขียว และการจัดตั้ง data center เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ มองว่าสอดคล้องกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน 

ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ปราศจากคอร์รัปชัน ยึดถือกฎระเบียบและกฎหมาย รวมถึงต้องมีทรัพยากรและแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งนายกฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรโดยมองว่าการฝึกทักษะและการอบรมจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศไทยและต่อบริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ พร้อมยินดีส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ผ่านความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาของสหรัฐฯ กับหน่วยงานที่รับผิดชอบการเสริมสร้างทักษะและการอบรมแรงงานไทยได้ในอนาคต

 

นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา

ด้านพลังงานสะอาด ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงทุนในพลังงานสะอาด อย่างพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งไทยมองว่าเป็นประเด็นที่ไทยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ แต่จำเป็นต้องศึกษาถึงความปลอดภัย รวมถึงรับฟังเสียงและความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ด้านรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ  มองว่าการลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นการสร้างโอกาสในการจ้างงาน รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่สะอาดและมีราคาถูก 

ส่วนความเชื่อมโยง และโครงสร้างพื้นฐาน นายกฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยมีการพัฒนาสนามบิน ท่าเรือ เพื่อให้รองรับต่อการเดินทางและขนส่งสินค้า รวมถึงมีโครงการ Landbridge ที่จะสร้างผลประโยชน์ทั้งต่อไทยและต่อภูมิภาค ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์เช่นกัน ด้านรมว.พาณิชย์สหรัฐฯ หวังว่าจะมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนสหรัฐฯ และไทย เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวเชิญนายกฯ เข้าร่วมการประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ณ สิงคโปร์ ในเดือนมิถุนายน พร้อมมองว่ากรอบ IPEF จะเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้เห็นถึงศักยภาพของไทย และแนวทางในการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

 

นายกฯ หารือกับคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC)

 

นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้หารือกับคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวม 10 ราย เช่น Mastercard, Boston Consulting Group, Kearney, Coastal Construction Group, มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon และ EXIM Bank

นายกฯ ระบุว่า คณะ PEC มาประเทศไทยเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการให้คำแนะนำประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะเผยแพร่รายงานผลการเยือนต่อสาธารณชนด้วย โดยทาง PEC มีความสนใจที่จะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในสาขาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และ supply chain การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว 

“ได้นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ และวิสัยทัศน์ Thailand Vision 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจด้านการลงทุนของสหรัฐ ทั้งในเรื่อง พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า EV เศรษฐกิจสีเขียว และดิจิทัล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการตั้ง data center เพื่อสนับสนุน Cloud First Policy ด้วย โดยที่ภาคธุรกิจ ทั้งสองฝ่ายจะมีการทำ workshop ร่วมกัน จัดโดยสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อเรียงลำดับความสำคัญ และเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่”

 

นายกฯ หารือกับคณะสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (PEC)