วันนี้ (18 มีนาคม 2567) ที่จังหวัดพะเยา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ เตรียมลงพื้นที่สนามบินจังหวัดพะเยา บริเวณตำบลดอนศรีชุม และตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อหารือแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินจังหวัดพะเยา ให้เป็นสนามบินภูมิภาคแห่งใหม่รองรับการเดินทางในภาคเหนือตอนบนของประเทศ
นางพัฒน์ชญา จิตราพันธ์ทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา ได้เสนอเรื่องการผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินพะเยาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาพิจารณาแล้ว โดยได้บรรจุให้เป็นหนึ่งในข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จังหวัดพะเยา เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในช่วงที่เดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับความสำคัญของสนามบินพะเยา ภาคเอกชนมองว่านอกจากจะช่วยส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถต่อยอดการพัฒนาให้จังหวัดพะเยากลายเป็นศูนย์กลางด้านการเดินทางด้านการบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนด้วย เพราะปัจจุบันจังหวัดพะเยามีความพร้อมด้านสถาบันการศึกษาทางด้านการแพทย์ เพื่อตอบสนองการเข้ามาใช้บริการทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา และสปป.ลาว ด้วย
ทั้งนี้ในการผลักดันสนามบินพะเยานั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เมื่อต้นปี 2566 ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือถึงการผลักดันสนามบินพะเยา โดยมีการรายงานว่า ปัจจุบันจังหวัดพะเยา ถือเป็น 1 ใน 2 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ยังไม่มีสนามบิน
จึงทำให้ปัญหาประชาชนในจังหวัดพะเยาประสบปัญหาการเดินทางทางอากาศ เพราะต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่จังหวัดอื่น เช่น สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย และสนามบินลำปาง ทำให้เกิดความไม่สะดวก เสียเวลา และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานในพื้นที่จังหวัดพะเยา บริเวณตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ห่างจากตัวอำเภอเมืองพะเยา ประมาณ 20 กิโลเมตร เบื้องต้นมีความต้องการใช้พื้นที่ในการก่อสรางรวม 2,812 ไร่
โดยมีทางวิ่ง หรือรันเวย์ กว้าง 45 เมตร ยาว 2,500 เมตร มีหลุมจอด 2 หลุม สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8 หมื่นคนต่อปี โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งไทม์ไลน์ในการก่อสร้างนั้น หากผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล จะสามารถดำเนินการก่อสร้างเสร็จภายใน 4 ปี