การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวพะเยา ด้วยแคมเปญ“สุขทันที...ที่เที่ยวพะเยา” เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดพะเยา พร้อมประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยส่งมอบความสุขและความทรงจำที่ดีในทุกการเดินทาง ใน 4 เส้นทางแห่งความสุขในพื้นที่จังหวัดพะเยาในฤดูกาลท่องเที่ยว 2566
นางภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ กล่าวว่า จังหวัดพะเยา มีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดไปในทิศทาง ที่ททท.ได้วางแผนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ของททท.ภาคเหนือทั้งหมดมีอยู่ 17 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีความแตกต่างกันในเชิงวัฒนธรรมและในเชิงพื้นที่อยู่บ้าง มีสำนักงาน ททท.ทั้งหมด 11 สำนักงาน
นักท่องเที่ยวที่มาในภาคเหนือ 85% เป็นคนไทย และใน 85% เกิน 60-70% เป็นคนเหนือเที่ยวเหนือด้วยกันเอง คือเที่ยวภายในภูมิภาคเดียวกัน และอีก 15% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งต้องใช้เงินเยอะการเดินทางต่อคนต่อTrip ใช้เงิน 4,000-5,000 บาท ทำให้สัดส่วนรายได้ของเรายังไม่ถึง
สำหรับทิศทางการท่องเที่ยว ปี 2567 เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม มีการวางแผนว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ภาคเหนือโดยภาพรวมในปีหน้า เทรนในตอนนี้ค่อนข้างเป็นประโยชน์ต่อภาคเหนือและจังหวัดพะเยา ตั้งแต่โควิดระบาดมา ทำให้ทุกคนหันกลับมาให้ความสำคัญในเรื่องของ Wellness สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน มากขึ้นเป็นทิศทางของภาคเหนือ
ภาคเหนือจะโฟกัสในเรื่องสร้างรายได้ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดรายได้ให้มากขึ้น ด้วยเทรน Wellness แล้วเรื่องของสิ่งที่เรามีในภาคเหนือ มีเรื่องของแหล่งปลูกชา กาแฟ โกโก้ ค่อนข้างเยอะ ถ้าเราทำอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยใช้กาแฟขับเคลื่อน ไม่ได้แค่นั่งเที่ยว รายได้กระจายไปถึงคนปลูกเลยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ททท.มองว่า Soft power ในส่วนที่เป็น Festival ภาคเหนือ มี Event ในช่วงเทศกาลประเพณีที่เกิดขึ้น มีนาคม เมษายน ค่อนข้างเยอะ ไหว้พระธาตุ สงกรานต์ แล้วก็มีเรื่องของวิสาขบูชา อะไรต่างๆที่เป็นเทศกาลประเพณี ก็จะเอามาโฟกัสตรงนี้เพื่อที่จะให้คนเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
อีกทั้งเรื่องของเมืองรอง เราไม่อยากให้คนมา ภาคเหนือมาที่เชียงใหม่ แล้วไม่ใช่มาแค่เชียงราย อยากให้กระจายไปที่อื่น เช่นเดียวกันคนมาเที่ยวพะเยา จะ ไม่อยู่แต่ในตัวเมือง เพื่อให้มันกระจายพื้นที่ในการเดินทาง
ส่วนของจังหวัดพะเยา ถ้ามาดูตัวเลขของนักท่องเที่ยวเข้ามา 100 คน 60 คนเป็นนักทัศนาจร คือไม่ค้างคืน แล้วอีก 40 คนเป็นนักท่องเที่ยวที่ค้างคืน เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวค้างคืน เพราะรายได้จะมากขึ้น มีการใช้จ่าย มีค่าที่พัก ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่ค้างคืน ทำอย่างไรให้ได้รายได้มากๆ ของกิน ของใช้ ของฝาก วันเดย์ทริป ใส่เข้าไป
สิ่งที่ ททท.ทำ ททท.มีแคมเปญ สุขทันที….. แล้วแต่ สุขทันทีที่แอ่วเหนือ สุขทันทีที่เที่ยวใต้ สุขทันทีที่เที่ยวพะเยา ฯลฯ นี่เป็นแคมเปญใหญ่แต่ว่าภายใต้แคมเปญใหญ่ ขับเคลื่อนไปด้วยในเรื่องของ BCG เรื่องของการที่พัฒนาอย่างยั่งยืน ในส่วนของ ททท.เองเรามีที่เรียกว่าสตาร์ เป็นการใช้เรดติ้ง ในตัวหลายๆตัวที่เราอยากจะได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
โดยมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อุทยานแห่งชาติแม่ปืม(ดอยงาม) ก็ได้รับรางวัล ตอนนี้มีรางวัลที่การันตีถึงเรื่องของการจัดการอย่างยั่งยืนก็คือสตาร์เรดติ้ง ถ้าหลายๆผู้ประกอบการหลายๆอุทยานฯ หลายๆแหล่งท่องเที่ยวร่วมมือกันเราประยุกต์ให้ได้ตัวเรดติ้งเหล่านี้เยอะๆเพื่อการันตีให้นักท่องเที่ยวจะได้มั่นใจเข้ามาแล้วสามารถเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดพะเยาตามที่จังหวัดพะเยาหวังไว้
นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย กล่าวเพิ่มเติมว่า ททท. สำนักงานเชียงราย ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการตลาดการท่องเที่ยว 2 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา ตามทิศทางแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำปี 2567 เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวกระแสหลักและกลุ่มศักยภาพ ทั้งคนไทยและต่างชาติ และเพิ่มการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว โดยนำจุดแข็งด้านวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย ด้วยพลังของ soft power เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวในพื้นที่
จังหวัดพะเยา เป็นหนึ่งในเมืองรองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของอารยธรรมเก่าแก่ มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม ภูเขา แม่น้ำ ทุ่งนา ป่าไม้ที่เขียวขจี โดยเฉพาะบรรยากาศริม“กว๊านพะเยา เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยาที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ที่ครั้งหนึ่งต้องมาสัมผัสกับบรรยากาศร่มรื่น ชิมอาหารอร่อยจากร้านอาหารที่มีอยู่มากมายเรียงรายโดยรอบกว๊านพะเยา มีความงดงามของสถานที่ชมทะเลหมอกดอยหนอกและภูลังกา
รวมไปถึงวัดดังเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา มีคาเฟ่สวยๆ และมีที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวที่สนใจอีกมากมาย ทั้งในตัวเมือง และต่างอำเภอ จังหวัดพะเยาจึงเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยว
ในปีงบประมาณ 2567 นี้ ททท. สำนักงานเชียงราย มีแผนที่จะดำเนินการจัดโครงการ “เที่ยวพะเยา...สุขทันใจสร้างได้ไม่ต้องรอ” ( Phayao Instant Happiness Moment) เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดพะเยาให้เป็นที่รู้จัก
โดยนำเสนอสินค้าและบริการท่องเที่ยว 4 เส้นทางแห่งความสุขในพื้นที่จังหวัดพะเยา (สุขกาย (Nature), สุขใจ (Faith), สุขในวิถี (Local), สุขในอาหารอร่อย (Tasty)) ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านช่องทางในการสื่อสาร Online และจัดกิจกรรม Agent /Media FAM Trip นำผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามาทดสอบสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวเพื่อออกแบบเส้นทางและนำไปเสนอขายเป็นแพ็คเก็จท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างกระแสการเดินทาง กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจังหวัดพะเยามากยิ่งขึ้น ในห้วงเดือนธันวาคม 2566 จึงถึงเดือนเมษายน 2567 อาทิเช่น กิจกรรม Phayao Road Trip Check-in เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเช็คอินท่องเที่ยว 4 เส้นทางแห่งความสุข รับของที่ระลึกและสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 - เมษายน 2567
อีกทั้งเชิญชวนนักท่องเที่ยวสายศรัทธาร่วมกิจกรรม Rally ท่องเที่ยวค้นหาความสุขใจ และ เช็คอิน ชม แชร์ ชวน ในแอปพลิเคชัน Tripniceday รับแลกของที่ระลึก และสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ในช่วงงานเวียนเทียนทางน้ำกลางกว๊านพะเยา ระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2567 และกระตุ้นการท่องเที่ยวพะเยาในช่วงกรีนซีซั่นด้วยกิจกรรมพิเศษต่างๆ ร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อมอบส่วนลดและสิทธิพิเศษ ในช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 นี้ด้วย
สำหรับเป้าหมายของการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยาปี 2567 ส่วนแรกก็คือเป้าหมายของปี 2566 ซึ่งจะใกล้จบในเดือนหน้านี้แล้ว มองว่าปี 2566 การเติบโตการท่องเที่ยวของพะเยา ค่อนข้างดีๆต่อเนื่องจากปี 2565
หลังจากสถานการณ์โควิต 19 โดยในปี 2565 พะเยามีผู้เยี่ยมเยือนรวม 977,460 คน เพิ่มขึ้น 210.29 %รายได้ 1,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 233.76 %จากปี 2564
สำหรับในช่วงมกราคม-กันยายน 2566 มีผู้เยี่ยมเยือน 725,598 คน รายได้ 1,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.55 %จากปี 2565 เพราะฉะนั้นรวม 3 เดือนที่เป็นไฮน์ซีซั่น ค่อนข้างมั่นใจว่าเติบโตเกินกว่า 10% หรือน่าจะเกินมากกว่านั้นส่วน ตัวเลขของนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเกิน 1 ล้านคนแน่นอน ในแง่ของตัวเลขคิดว่าเราพอใจ ในส่วนของรายได้คงจะต้องเร่งในเรื่องของค่าใช้จ่ายในเรื่องของวันพัก สินค้าที่จะให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น
สำหรับในปี 2567 การทำงาน ททท.จะลงมาบูรณาการอย่างเต็มที่ คาดว่าการเติบโต 15 % แน่นอน มีผู้เยี่ยมเยือนประมาณ 1,300,000 คนขึ้นไป ค่อนข้างมั่นใจ ส่วนรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่ 1. จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องมากขึ้น 2.ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันก็ต้องมากขึ้นด้วย