วันนี้ (3 เมษายน 2567) ที่รัฐสภา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา) มูลค่าการลงทุนรวม 2.7 แสนล้านบาท รูปแบบการลงทุนรัฐร่วมลงทุนเอกชน หรือ PPP Net cost (เอกชนลงทุน 1.1 แสนล้านบาท รัฐลงทุน 1.6 แสนล้านบาท) ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี โดยมีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นบริษัทเอกชนคู่สัญญากับรัฐ
นายสุรเชษฐ์อภิปรายว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเซ็นสัญญาไปตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 ปัจจุบันผ่านไปแล้ว 5 ปี ยังไม่ได้ตอกเสาเข็ม ซึ่งรัฐลงทุนรื้อย้ายสาธารณูปโภคไปแล้ว 6,000 กว่าล้านบาท และมีการส่งมอบพื้นที่ จนมีการเลื่อนหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice To Proceed : NTP) ส่งผลให้แอร์พอร์ตลิงก์มีปัญหาต้องขยายบันทึกข้อตกลงไปเรื่อย ๆ ล่าสุดกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 หากไม่มีอะไรที่ทำให้ต้องเลื่อนอีกจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนมิถุนายน 2567
“ความล่าช้าอยู่ที่เกมเลื่อนเอ็นทีพี มีการซ่อน Trick เงื่อนไขไว้ในเอ็นทีพี ทำให้ก่อสร้างไปต่อไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเอกชน คือ เงื่อนไขข้อที่ 3 เอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟ คือ รัฐจะออกเอ็นทีพีได้ขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)”นายสุรเชษฐ์กล่าว
นายสุรเชษฐ์อภิปรายว่า ขณะนี้คู่สัญญามีทางเลือกหลักอยู่ 2 กรณี กรณีแรก เลิกกันวันนี้ เจ็บน้อยทั้งสองฝ่าย กรณีที่สอง ไม่เลิกวันนี้จะมีคนเจ็บเจียนตาย โอกาสรอดทั้งสองฝ่ายแทบไม่มี มีการฟ้องร้องกันระหว่างเอกชนกับรัฐ ซึ่งโอกาสสูงที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยโครงการโฮปเวลล์ ระวังยิ่งยื้อก็ยิ่งแย่ กลายเป็นค่าโง่ก่อนใหญ่มากกว่าเดิม
นายสุรเชษฐ์อภิปรายว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 กำลังจะถึงเดดไลน์ เลื่อนไม่ได้อีกแล้ว เพราะเลื่อนบีโอไอครบ 3 ครั้ง รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ เตรียม Plan A Plan B ไว้ด้วย เพราะหากโครงการนี้ไปต่อไม่ไหวก็อย่าให้นายทุนมาเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ต้องเตรียมแผนสำรองบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ไว้ให้ดี หากโครงการนี้ไปต่อไม่ไหว
นายสุรเชษฐ์อภิปรายว่า เมื่อรัฐบาลที่แล้วพลาดมาถึงรัฐบาลชุดนี้แล้ว ข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดนี้ คือ ข้อแรก เลิกยื้อเวลา แต่ต้องกล้าตัดสินใจ วันที่ 22 พฤษภาคมนี้คือเดดไลน์รอบสุดท้ายของบีโอไอ จากนั้น รฟท.ต้องออก NTP ภายใน 15 วัน ตามสัญญาข้อที่ 6.3 (1) หรือ เดือนมิถุนายนนี้ต้องจบ จะไปต่อหรือพอแค่นี้ ต้องกล้าตัดสินใจ
นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ข้อที่สอง อย่าเอื้อประโยชน์ด้วยการแก้ไขสัญญาให้เอกชนอย่างน่าเกียจ อย่าให้เห็นว่าปรับงวดเงินโดยเทเข้ากระเป๋านายทุนให้เร็วขึ้น เพราะหากบริษัทขาดสภาพคล่อง เจ้าของควรเพิ่มทุน และ ข้อที่สาม ทบทวนแผนงานโครงการระบบรถไฟความเร็วสูงให้ดี พิจารณาถึงความซ้ำซ้อนของระบบรถไฟทางคู่ 1 เมตร และมอเตอร์เวย์ที่มีแผนจะก่อสร้างทั่วประเทศ
นายสุรเชษฐ์อภิปรายว่า ขอถามรัฐบาลว่า คำถามข้อแรก จะมีการเลื่อน NTP จากกำหนดการในปัจจุบันหรือเดือนมิถุนายน 67 อีกหรือไม่ คำถามข้อที่สอง จะมีการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมเมื่อปี 62 หรือไม่ และ คำถามข้อที่สาม เมื่อไหร่จะมีการกำหนดมาตรฐานของรถไฟความเร็วสูงที่จะถูกนำมาใช้ในประเทศไทย