วันนี้ (10 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยระบุถึงแหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วงเงิน 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท และการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวถึงแหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่มาเงินจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 172,300 ล้านบาท สำหรับเกษตรกร จำนวน 17.23 ล้านคน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 ว่า มาจากในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบแล้วว่า หนึ่ง อำนาจหน้าที่ของธ.ก.ส.สามารถทำได้ สอง สภาพคล่องของ ธ.ก.ส.มีเพียงพอ อย่างไรก็ตามถ้าจะใช้ต้องให้งบประมาณปี 68 ออกมาก่อน
ผู้สื่อข่าวาถามว่า มีกำหนดเวลาหรือไม่จะใช้หนี้ ธ.ก.ส.เมื่อไหร่ นายลวรณกล่าวว่า เป็นกระบวนการทางงบประมาณ แต่ละปีต้องดูเหตุผลความจำเป็น รายได้ที่รัฐได้รับเข้ามา ซึ่งเรามีการตั้งใช้คืนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นระยะอยู่แล้ว ต้องดูความเหมาะสมในแต่ละปีงบประมาณ
เมื่อถามว่ากรอบตามมาตรา 28 กรอบเดิม 32 % ของปีงบประมาณใช้ไปแล้ว 31.79 % ของปีงบประมาณ คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐครั้งล่าสุดขยายไปแล้วใช่หรือไม่ และต้องขยายอีกเพื่อทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า เรื่องมาตรา 28 ไม่มีการขยายกรอบและจะไม่มีการขยายกรอบ และเมื่องบปี 67 มีผลบังคับใช้แล้ว กรอบมาตรา 28 ก็จะกว้างขึ้น และเมื่อรวมงบประมาณปี 68 ที่จะบังคับใช้ในเดือนตุลาคม ุ67 กรอบก็จะกว้างขึ้นไปอีก
"ตามหลักการประเมินหลังจากมีการใช้เงินของธ.ก.ส.แล้ว กรอบตามมาตรา 28 อาจจะลงต่ำกว่า 30 % ของปีงบประมาณ ได้ เพราะฉะนั้นหมดความกังวลเรื่องวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 28"นายเผ่าภูมิกล่าว
เมื่อถามว่า หากนำเงินมาทำเงินดิจิทัลวอลเล็ตแล้วรัฐบาลจะขอให้ธ.ก.ส.ช่วยโครงการอื่น ๆ อีกได้หรือไม่ เช่น สินค้าเกษตร นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับโครงการอื่น ยังปฏิบัติตามภารกิจหน้าที่ที่มีความเหมาะสมต่อไป
เมื่อถามว่า ยืนยันได้ใช่หรือไม่ว่า การใช้เงินธ.ก.ส.จะไม่ผิดวัตถุประสงค์ นายจุลพันธ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังยืนยันว่า ไม่ผิดวัตถุประสงค์ เป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ
เมื่อถามว่า 10 ปีจะใช้หนี้หมดหรือไม่ เหมือนโครงการรับจำนำข้าว นายจุลพันธ์กล่าวว่า เราสามารถบริหารจัดการได้
เมื่อถามว่า ให้คำมั่นได้หรือไม่ว่าจะรีบใช้เงินให้ ธ.ก.ส. นายจุลพันธ์กล่าวว่า เราก็ต้องพิจารณาในเรื่องนั้นอยู่แล้ว และเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่เราต้องดำเนินการ
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อกังวลการใช้เงินตามมาตรา 28 เพื่อมาใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า มี 2 เรื่อง เรื่องแรก วัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตาม พ.ร.บ.ธ.ก.ส. พ.ศ.2509 หมวด 2 วัตถุประสงค์ มาตรา 9 (3) ต้องใช้การตีความอย่างมาก เพื่อให้สามารถแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้
"ไต่เส้นที่จะให้ ธ.ก.ส.มาทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อเกษตรกรได้ จึงอยากให้รัฐบาลปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เสร็จเสียก่อนที่จะประกาศว่าจะใช้เงินตามมาตรา 28 ได้จากที่ใดกันแน่"น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ข้อกังวลประการที่สอง ในการนำเงินมาใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ธ.ก.ส.ตกเป็นกระเป๋าตังค์ให้รัฐบาลล้วงใช้มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเป็นหนี้ธ.ก.ส.อยู่ประมาณ 8 แสนล้านบาท โดยรอบนี้จะใช้รอบเดียว 1.7 แสนล้านบาท จะกระทบงบการเงินของ ธ.ก.ส.แน่นอน ซึ่งสุดท้ายต้องออกมาตรการที่จะทำอย่างไรไม่ให้สุดท้ายไม่ตกเป็นภาระดอกเบี้ยของเกษตรกรที่มากู้เงิน ธ.ก.ส.
“ตอนใช้ ใช้ง่าย ใช้ไว ถ้าจะเอาวันนี้ก็ต้องโอนให้ได้ทันที แต่เวลารัฐบาลใช้คืนหนี้กะปริบกะปรอยมาก ธ.ก.ส.บ่นมาโดยตลอดว่า ได้รับเงินคืนไม่เท่ากับที่สัญญากันไว้ว่าจะจ่ายคืนปีละประมาณ 10 % ได้ไม่เคยถึง ขอให้รัฐบาลออกแผนการชำระหนี้ว่าจะใช้คืนให้กับธ.ก.ส.ภายในระยะเวลากี่ปี ดอกเบี้ยเป็นเงินเท่าไหร่กันแน่”น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า รัฐบาลบอกว่าจะไม่ขยายกรอบวินัยการเงินการคลังในเรื่องของการกู้ยืมเงินจากหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ยังคงกรอบเพดานไว้ที่ 32 % เท่ากับว่า หลายโครงการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ เช่น พักหนี้เกษตรกร การจ่ายเงินให้กับชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท อาจจะต้องพัก หรือชะลอไปก่อนหรือไม่ เพื่อมาทำเงินดิจิทัลวอลเล็ตเพราะไม่เช่นนั้นจะเต็มวงเงินที่จะสามารถใช้ได้ โดยที่ยังไม่มีการขยายกรอบวินัยการคลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 ระบุว่า การมอบหมายให้หน่วยงานรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการโดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น เพื่อฟื้นฟู หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม
ในการมอบหมายตามวรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาภาระทางการคลังของรัฐที่อาจเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายนั้น และแนวทางการบริหารจัดการภาระทางการคลังของรัฐและผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว
ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรานี้ ไม่ว่าการมอบหมายนั้นจะเกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติใช้บังคับหรือไม่ จัดทำประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมดสำหรับกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการนั้น ๆ และแจ้งให้คณะกรรมการและกระทรวงการคลังทราบ
ขณะที่ พ.ร.บ.ธ.ก.ส. พ.ศ.2509 หมวด 2 วัตถุประสงค์ มาตรา 9 (3) ระบุว่า ดำเนินงานเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือการบริหารจัดการแก่บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการ กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใดที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกรหรือชุมชน
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรหรือชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การแปรรูป และการตลาด หรือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจหรือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต