นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 67 ว่า อยู่ที่ระดับ 92.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยความเชื่อมั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรีในช่วงที่ผ่านมา ในด้านการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศ คู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ อินเดียและออสเตรเลีย
ด้านเดือนมีนาคมผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้รับผลดีจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งให้กับภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,336 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท. ในเดือนมีนาคม 67 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 75% ,ราคาน้ำมัน 55.8% และศรษฐกิจในประเทศ 50.2%
ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 78.5% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 36.1% และสถานการณ์การเมืองในประเทศ 30.5%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 100.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 รวมถึงภาคการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้กับสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น อาทิ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นต้น
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ