นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า รัฐบาลควรหามาตรการอื่นมาพยุงเศรษฐกิจก่อน เช่น เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้มีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เนื่องจากกว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทจะใช้ได้ก็คือช่วงไตรมาส 4/2567 โดยมาตรการแจกเงินดิจิทัล วอลเลตถือเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการสร้างกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
"ขอให้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อไม่ให้ระหว่างปีว่างเว้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ซึ่งต้องการให้เกิดการหมุนเวียนของเงินหลายรอบให้มากที่สุด เป็นการกระชากเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ล้าลงไปในช่วงโควิดที่ผ่านมา ลากยาวมาถึงสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำในรอบ 10 ปี โตเฉลี่ยไม่ถึง 2% ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน
ขณะนี้มาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเลตมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/2567 แล้ว ถือเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะเรื่องแหล่งที่มาของเงินไม่ต้องใช้เงินกู้ผ่านการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตามที่หลายฝ่ายกังวล
แต่มีข้อจำกัดเรื่องผู้ค้าปลีกรายย่อยยังไม่เข้าระบบเพราะกังวลภาษี จึงไม่ได้อานิสงส์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นกติกา จึงอยากให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เต็มที่
"มองว่าเงื่อนไขโครงการดิจิทัล วอลเลต มีความครอบคลุมพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ช่วยกระจายโอกาสและรายได้เพิ่มขึ้น แต่การใช้เงินงบประมาณ 2567 ที่ล่าช้าออกไปจากเดิมกำหนดไว้เดือนก.พ.-มี.ค.2567 และกว่าดิจิทัล วอลเลตจะใช้ได้ในช่วงไตรมาส 4/2567 รัฐบาลต้องหามาตรการอื่นมาพยุงเศรษฐกิจด้วย"
ส่วนที่หลายฝ่ายวิพากวิจารณ์ว่าเงื่อนไขของดิจิทัล วอลเลตเปิดโอกาสให้ร้านสะดวกซื้อเข้าร่วมโครงการได้นั้น ส่วนตัวมองว่าในร้านสะดวกซื้อก็จำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย ไม่ใช่สินค้านำเข้า