นักวิชาการ ชี้ สงครามยืดเยื้อ แต่ไม่สะเทือนเศรษฐกิจโลก

24 เม.ย. 2567 | 00:30 น.

นักวิชาการ ชี้ ภาวะสงครามยืดเยื้อ แต่ไม่สะเทือนเศรษฐกิจโลก ยังเติบโตได้ตามปกติ แม้มีการสู้รบยืดเยื้อ แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะผันผวนระยะสั้นเท่านั้น มั่นใจ ไม่ถึงระดับสงครามโลก ส่วนไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด่วน

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า ภาวะสงครามที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมากนัก สะท้อนจากประมาณการเศรษฐกิจโลกของ เวิลด์แบงก์ ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.2% เท่ากับปีที่แล้ว

ขณะที่ประมาณการเศรษฐกิจในหลายประเทศยังคงอยู่ในระดับปกติ เช่น สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจดีขึ้น จากเดิมคาดว่าจะโต 2.1% ก็เพิ่มประมาณการเป็น 2.7% ด้านยูโรโซน ปีนี้ก็คาดว่าเติบโตได้ 0.8% ส่วนจีนก็คาดว่าจะเติบโตได้ 4.5% ในปีนี้ ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน คาดว่าจะเติบโตสูงที่ 4.5% 

“สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก ก็มีแนวโน้มลดลง จากปีที่แล้ว 6.8% เหลือ 5.9% ในปีนี้ และคาดว่าจะลดลงเหลือ 4.5% ในปีหน้า หรือหากจะมองไปที่การค้าโลก เวิลด์แบงก์ก็ประเมินว่าจะเติบโตได้ถึง 3% จากปีที่แล้วเติบโตเพียง 0.3%”

สำหรับสถานารณ์สงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ รศ.ดร.สมชาย สรุปในแต่ละสถานการณ์ ดังนี้

1.สงคราม รัสเซีย-ยูเครน เป็นการรบกันต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นแน่นอน หลังจากที่ชาติพันธมิตรส่งสัญญาณให้ความช่วยเหลือยูเครน เช่น กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ รับรองร่างกฎหมายมาตรการช่วยเหลือยูเครน อิสราเอล และไต้หวัน มูลค่ารวม 95,000 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับ สหภาพยุโรป (อียู) ที่จะจัดสรรงบประมาณ 50,000 ล้านยูโร ในการสนับสนุนยูเครน

โดยสงครามรัสเซีย-ยูเครน กินเวลาการสู้รบ 2 ปีแล้ว ทำให้โลกปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นราคาน้ำมันจะไม่พุ่งสูง 140-150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหมือนในช่วงแรกที่เกิดสคราม จึงมองว่าสถานการณ์จะไม่บานปลายขยายวงกว้าง เพียงแต่จะยืดเยื้อเท่านั้น ซึ่งหากมีเหตุการณ์รุนแรงก็จะส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลกเล็กน้อย

2.ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 3 ฉากทัศน์

  • สงคราม อิสราเอล-ฮามาส หากนับตั้งแต่เริ่มต้นสู้รบกันในครั้งนี้ กินเวลาร่วม 6-7 เดือนแล้ว แม้จะมีความเข้มข้นจากการที่อิสราเอลยังคงเล่นงานฮามาสต่อเนื่อง แต่เป็นการรบกันเฉพาะกลุ่ม ไม่น่าจะขยายวงกว้างมากไปกว่านี้ อาจจะมีการสู้รบไปทั้งปี แต่เชื่อว่าจะจบลงเพราะความได้เปรียบของอิสราเอล นำไปสู่การเจรจา
  • ความขัดแย้ง อิสราเอล-กลุ่มติดอาวุธ ฮิซบอลเลาะห์ , กลุ่มฮูตี ในเยเมน และกองกำลังติดอาวุธใน ซีเรียและอิรัก ที่ผ่านมายังไม่มีการสู้รบกันอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการยิงตอบโต้กันไปมา ซึ่งมองว่า ไม่น่าขยายวงกว้างจนกลายเป็นการสู้รบกันในระดับภูมิภาคได้ 
  • ความขัดแย้ง อิสราเอล-อิหร่าน เป็นการโจมตีชั่วคราว มีโอกาสเกิดเป็นสงครามได้ 20% เพราะทั้งอิหร่าน และ สหรัฐฯ ที่แม้จะเป็นชาติที่สนับสนุนอิสราเอล แต่ก็ต่างไม่ต้องการให้เกิดสงครามขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดความสูญเสีย และสหรัฐฯไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายใน โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ เชื่อว่า น่าจะไม่บานปลายจนถึงขั้นมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ

“ความขัดแย้งทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้น จะมีความผันผวนโดยตรงต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ก็จะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ในกรณีที่มีการเกิดความรุนแรงขึ้นจนทำให้ทั่วโลกต้องจับตามอง แต่จะไม่ส่งผลระยะยาว โดยราคาพลังงานก็จะกลับมาอยู่ในภาวะปกติในที่สุด ซึ่งมองว่าในแต่ละครั้งที่ตลาดตกใจ ก็อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 5-15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจโลกก็อาจจะกระทบเล็กน้อย”

ผลกระทบสงครามกับเศรษฐกิจไทย

รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า สำหรับเศรษฐกิจไทย ยังสามารถขยายตัวได้ตามปกติ 2.7-2.8% จากประมาณการณ์ของ IMF หากรวมมาตรการช่วยเหลืออสังหาริมทรัพย์ และโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ก็อาจจะทำให้เติบโตได้ถึง 4% ในปีนี้ ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวได้ดี และงบประมาณปี 67-68 กำลังจะออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นบวก และการลงทุนภาคเอกชนก็จะเริ่มกลับมา

ดังนั้นจะสังเกตุได้ว่า ไม่ว่าผลของสงครามจะออกมาฉากทัศน์ใด อาจส่งผลต่อความตื่นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเริ่มต้นเล็กน้อย ถ้าสถานการณ์ไม่เลวร้ายลงจนเกินจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก 

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ยังไม่แนะนำให้รัฐบาลเร่งก่อหนี้ใด ๆ เพราะหากจีดีพีไม่เติบโตตามคาด ก็อาจส่งผลเสียได้ ซึ่งต้องบริหารประเทศภายใต้ความไม่แน่นอนด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำ คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้เอกชนไทย เพราะปัจจุบันไทย เติบโตต่ำกว่าเฉลี่ยของอาเซียนที่้เติบโตได้ 4.5% จากปัจจัยค่าแรงที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ฝีมือแรงงานพัฒนาตามไม่ทัน รวมถึงต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

 

ขณะที่สำนักข่าว บลูกเบิร์ก ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ ‘สงครามที่ขยายวงกว้างขึ้นในตะวันออกกลางอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย’ โดยได้วิเคราะห์ฉากทัศน์ของสงครามออกมาเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  • ฉากทัศน์ที่ 1 Confined War (สงครามที่จำกัดวง) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน มีความขัดแย้งอยู่ในระดับจำกัด แต่อาจทำให้ผลผลิตน้ำมันดิบจากอิหร่านลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกลดลง 0.1% และภาวะเงินเฟ้อมีโอกาสสูงขึ้นราว 0.1%  
  • ฉากทัศน์ที่ 2 Proxy War (สงครามตัวแทน) จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีสงครามหลายแนวในฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ เลบานอน และซีเรีย กลายเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่กว้างขึ้นอีกระดับ ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นราว 8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกลดลง 0.3% และภาวะเงินเฟ้อมีโอกาสสูงขึ้นราว 0.2%
  • ฉากทัศน์ที่ 3 Direct War (สงครามทางตรง) คือความระหว่างอิสราเอลและอิหร่านขัดแย้งกันมากขึ้น มีหายชาติเข้ามามีส่วนร่วมจนกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบ ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นราว 64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกลดลง 1% และภาวะเงินเฟ้อมีโอกาสสูงขึ้นราว 1.2%

นักวิชาการ ชี้ สงครามยืดเยื้อ แต่ไม่สะเทือนเศรษฐกิจโลก

หากวิเคราะห์ตามที่ รศ.ดร.สมชาย กล่าวไว้ข้างต้น ก็สามารถคาดเดาได้ว่า ปัจจุบัน อยู่ใน ฉากทัศน์ที่ 1 Confined War (สงครามที่จำกัดวง) ตามการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เพราะราคาพลังงานและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมา ยังไม่มีการปรับตัวมาก