สศช.แนะรีดรายได้โปะงบประมาณ ขีดเส้นรีบลดขาดดุลเกิน 3%

24 เม.ย. 2567 | 23:01 น.

สศช.แนะคลัง สำนักงบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง หาช่องจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ หวังลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่า 3% ต่อ GDP

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของสำนักงบประมาณ โดย สศช. มีข้อเสนอว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ การเพิ่มขึ้นของการขาดดุลและระดับหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากผลการดำเนินนโยบายทางการคลังที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้พื้นที่การคลังลดลงและอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก ซึ่งอาจมีความจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

ดังนั้น ในการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย จึงควรพิจารณาดำเนินมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขทางการคลัง รวมทั้งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญกับการบริหารการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งเร่งกำหนดมาตรการเพิ่มรายได้และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่ากว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในช่วงถัดไป

สำหรับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากครม.ไปก่อนหน้านี้นั้น มีวงเงินรวม 3.752 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วย รายจ่ายประจำปี 2,704,574 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มี รายจ่ายลงทุน 908,223 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 150,100 ล้านบาท

ขณะที่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 19,570,126 ล้านบาท ส่วนวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 865,700 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 4.24% 

อย่างไรก็ตามภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ประมาณการดุลการคลังเอาไว้เป็นรายปี ดังนี้ 

  • ปี 2568 ขาดดุล 865,700 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 4.24% 
  • ปี 2569 ขาดดุล 703,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 3.42%
  • ปี 2570 ขาดดุล 693,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 3.21%
  • ปี 2571 ขาดดุล 683,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นดุลการคลังต่อ GDP อยู่ที่ 3.01%