การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีความชัดเจนเกี่ยวกับกรอบวงเงินแล้ว หลังจาก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ร่วมกันทบทวนประมาณการรายได้ ปรับปรุงกรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณ และเสนอครม.รับทราบแล้ว ซึ่งในรายละเอียดของงบส่วนหนึ่งจะใช้รองรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ บรรจุใหม่ ให้มีเงินเดือนแตะ 1.8 หมื่นบาทต่อเดือน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า หลังจากผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 เมษายน 2567 นี้ สำนักงบประมาณ จะเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2568 พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณ
จากนั้นจึงให้หน่วยรับงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 20 เมษายน 2567
โดยในรายละเอียดของงบประมาณส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นงบประจำนั้น ได้กันไว้รองรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ บรรจุใหม่ ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท
สำหรับรายละเอียดงบประมาณปี 2568 ได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ 2568 จำนวน 865,700 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเป็น 3,752,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่กำหนดไว้ 3,480,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 272,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.8% โดยโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้
1. รายจ่ายประจำ จำนวน 2,736,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 196,431.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.7% และคิดเป็นสัดส่วน 72.9% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีสัดส่วน 73%
2. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ 2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ 2567 ตั้งงบประมาณไว้ จำนวน 118,361.1 ล้านบาท)
3. รายจ่ายลงทุน จำนวน 865,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 155,619.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.9% และคิดเป็นสัดส่วน 23.1% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีสัดส่วน 20.4%
4. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 31,780 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.9% และคิดเป็นสัดส่วน 4% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีสัดส่วน 3.4%
ทั้งนี้ในการเตรียมความพร้อมการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ นั้น ตามมติครม. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2568 กำหนดเป้าหมายปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิให้แตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี
รวมทั้งปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย โดยประมาณการงบประมาณว่าการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คาดว่าจะใช้งบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท
โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการในลำดับต่อไป
การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 2 ปี
สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตามมติครม. กำหนดรายละเอียดแนวทางดำเนินการว่า เป็นการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี ปีละ 10% คือ ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 โดยมีเป้าหมายการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษา (คุณวุฒิหลัก) ดังนี้
วุฒิการศึกษา ปวช.
วุฒิการศึกษา ปวส.
วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี
วุฒิการศึกษา ปริญญาโท
วุฒิการศึกษา ปริญญาเอก