จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ขานรับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการภาคเอกชนตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ร้องขอมาหลายรอบ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้เชิญผู้บริหาร 4 ธนาคารใหญ่ (กสิกรไทย,กรุงไทย, กรุงเทพ,ไทยพาณิชย์) หารือเพื่อขอให้ช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในอัตราสูง ล่าสุดมีธนาคารและสถาบันการเงินภาครัฐและเอกชนหลายราย ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% เป็นเวลานาน 6 เดือน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การลดดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนทางการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไปต่อได้ ซึ่งเปรียบเสมือนการต่อลมหายใจ รวมถึงการลดดอกเบี้ยยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการที่ยังไปได้มีกำลังใจในการลงทุน หรือขยายธุรกิจ ทำให้ช่วยรักษาสถานภาพและเพิ่มการจ้างงาน
“หลายคนบอกว่าแบงก์ลดดอกเบี้ยลงให้แค่สลึงเดียว (0.25%) น้อยไปหรือไม่ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่มีความพอดีหรอก แต่การลดครั้งนี้ในทางจิตวิทยาก็ช่วยได้มาก อย่างน้อยทำให้คนมีความหวังมากขึ้น มีขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้น จากภาระดอกเบี้ยที่เคยแบกรับเยอะได้ทุเลาลง และจะส่งผลให้แบงก์ต่าง ๆ พิจารณาลดดอกเบี้ยลงตาม ที่สำคัญยังสะท้อนถึงหนี้นอกระบบที่จะลดลงด้วย จากคนจะหันมากู้ในระบบมากขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณและชื่นชมนายกรัฐมนตรี รวมถึงซีอีโอของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ที่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ ทำให้ผู้ประกอบการมีกำลังใจมากขึ้น”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากฝากถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลังมีการปรับลดดอกเบี้ยแล้ว คือจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้ธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้ด้วยความระมัดระวัง ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้น้อย ดังนั้นต้องหาทางช่วยเหลือ เช่นให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาห กรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยคํ้าประกันการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้มากขึ้นได้หรือไม่
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวอีกว่า นอกจากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ช่วยผู้ประกอบการและภาคธุรกิจซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ยังมีเรื่องที่ผู้ประกอบการภาคการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศมีความกังวล เพราะได้รับผลกระทบหนักขึ้นเรื่อย ๆ จากที่มีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาดัมพ์ตลาดในประเทศในราคาตํ่า ทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศแข่งขันลำบาก ซึ่งมีทั้งสินค้าที่นำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายผ่านการสำแดงเท็จที่ด่านศุลกากร ที่ผ่านมาทาง ส.อ.ท.ได้ร้องเรียนไปยังรัฐบาลในการหามาตรการป้องกัน และแก้ไข จากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบไปแล้วมากกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรม หากจากนี้ไปยังไม่มีมาตรการอะไรที่ได้ผล คาดปีนี้จะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
“รัฐบาลเปิดเกมรุก กระตุ้นให้ธนาคารช่วยลดดอกเบี้ยลงได้แล้ว แต่อีกฝั่งยังมีรูรั่วจากสินค้านำเข้าที่เข้ามาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบผู้ประกอบการในประเทศหนักขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากปิดประตู หรือรูรั่วตรงนี้ได้จะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศหายใจคล่องขึ้น และสามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งอยากฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หาทางช่วยกัน”
ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขานรับในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงประชาชนตามที่นายกรัฐมนตรีได้ร้องขอ ถือเป็นความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือภาคเอกชนได้มากน้อยแค่ไหน ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ จะช่วยแบ่งเบาภาระภาคเอกชนลงในเรื่องของดอกเบี้ยที่กู้ยืมมา ช่วยประคองธุรกิจ หรือไปต่อยอดขยายธุรกิจได้
“ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินได้ตอบรับนายกรัฐมนตรีในการลดดอกเบี้ย แต่คนที่จะไปกู้ธนาคารจะเข้าถึงแหล่งเงินหรือเปล่า ผมว่าเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ซึ่งธนาคารจะผ่อนปรนอย่างไรเพื่อทำให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนตรงนี้ได้จริง”
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า จากที่หลายธนาคารพาณิชย์ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามนโยบายรัฐบาล มองว่าจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 2% หากลดดอกเบี้ยลง 1% ที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งมองว่าธนาคารพาณิชย์หลักมีกำไรแต่ละปีค่อนข้างสูง จึงไม่แปลกที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายช่วยคนซื้อบ้านได้ และเป็นการส่งสัญญาณถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยอมพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในอนาคตหรือไม่ แต่ทั้งนี้เข้าใจดีว่าทาง ธปท.ต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่รัฐบาลต้องทำหน้าที่กระตุ้นการจับจ่าย
นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การลดดอกเบี้ยของธนาคารจะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการช่วยกระตุ้นกำลังซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
ขณะที่นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยในส่วนของภาคเอกชนมองว่า จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มกระแสเงินสดได้บางส่วน แต่เท่าที่ทราบแบงก์จะช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นภาคของธุรกิจโรงแรมไม่แน่ใจว่าจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยตรงนี้หรือไม่ แต่ที่ภาคธุรกิจโรงแรมอยากได้ตอนนี้คือ วงเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อทำการรีโนเวทโรงแรม เพราะโรงแรมขนาดเล็กหลายที่ยังขาดเงินทุนหมุนเวียนและเงินที่จะนำมาปรับปรุงโรงแรม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
อนึ่ง ธนาคารพาณิชย์ / สถาบันการเงิน ที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แล้วในเวลานี้ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3988 วันที่ 2 – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567