บิ๊กภูธร ชี้"แจกเงินดิจิทัล” กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดเหลื่อมล้ำ

08 พ.ค. 2567 | 04:48 น.

หอการค้าภูธร มองจุดเด่น-ด้อย “ดิจิทัลวอลเล็ต ”ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดเหลื่อมล้ำ แต่หวั่นกลุ่มผู้สูงวัยเข้าไม่ถึงแอพใหม่ แนะหามาตรการจูงใจร้านค้าที่ไม่เข้าระบบภาษี

จากกรณีที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต โดยจะให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เริ่มใช้จ่ายไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นี้ มีความเห็นจากภาคเอกชนในต่างจังหวัด  ชี้จุดแข็ง-จุดอ่อน ไว้อย่างน่าสนใจ 

นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี สะท้อนข้อดีของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า นโยบายนี้จะช่วยให้ประชาชนมีเงินใช้จ่าย บรรเทาภาระค่าครองชีพ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ต่อมาคือเรื่องความเท่าเทียม เพราะทุกคนที่เข้าเกณฑ์จะมีสิทธิ์ได้เงิน 10,000 บาทอย่างเท่าเทียมกัน 


 

ส่วนเป้าหมาย 50 ล้านคนที่มีโอกาสจะได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ครอบคลุม 878 อำเภอทั่วประเทศ เป็นการกระจายเม็ดเงินอย่างทั่วถึง เพราะหลักเกณฑ์ ต้องใช้เงินในพื้นที่ตามที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน จะส่งผลดีต่อร้านค้า ชุมชน ท้องถิ่น ทำให้กลุ่มเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ  ประชาชนคุ้นเคยเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภาพใหญ่สุดคือ เศรษฐกิจถูกกระตุ้น

บิ๊กภูธร ชี้\"แจกเงินดิจิทัล” กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดเหลื่อมล้ำ

ส่วนข้อเสียโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งานของกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีไม่คล่อง เช่น กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มผู้ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ความเหลื่อมล้ำที่แก้ปัญหาได้ยากจากตัวบุคคล และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย  นอกจากนั้นโครงการดิจิทัลเป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ใช้งบประมาณจำนวนมาก และก่อให้เกิดภาระผูกพันต่อรัฐบาลในระยะยาว  ควรทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น
 

นายทรงพล จังศิริวัฒนธำรง ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา  มองว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่คนที่ได้รับต้องหาทางที่จะใช้จ่ายอยู่แล้วโดยธรรมชาติเพียงแต่จะไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระดับฐานราก ร้านค้าย่อยในระดับอำเภอ ในพื้นที่ได้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่นั้นไม่ง่าย  เพราะร้านขนาดเล็ก ร้านที่อยู่ในอำเภอ  มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน  เนื่องจากระบบที่จะพัฒนาจะเป็นแอพตัวใหม่ เป็นระบบที่จะต้องเรียนรู้กันใหม่  การซื้อขายต้องมีขั้นตอน ซึ่งคนที่จะใช้ตรงนี้ได้ต้องเป็นร้านค้าที่มีความพร้อมระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ การมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นั้นดีอยู่แล้ว ด้วยเงินที่มีการอัดฉีดเข้ามาในระบบ แต่จะมีผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นไปถึงชุมชนแค่ไหนยังมองไม่ชัด  แต่ว่าคนที่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะนำมาใช้จ่ายแน่นอน  เพียงแต่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำให้เม็ดเงินสะพัดจะเป็นใคร มองว่าร้านค้ารายเล็ก ร้านค้ารายย่อย อาจจะไม่ง่ายที่จะปรับตัวได้ทั้งหมด

โดยเฉพาะอย่างในชุมชนรอบนอกที่ต้องมาเรียนรู้การใช้แอพใหม่ ทำให้อาจจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ทุกร้านค้า ยิ่งถ้ามีร้านค้าที่เข้าร่วมกลัวจะถูกตรวจสอบภาษี อาจจะเป็นข้อกังวลในการเข้าร่วมของร้านรายเล็ก  แต่ถ้าดูจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลอยากจะให้โครงการนี้ออกมาให้ได้ในปี 2567 นี้ 

นายณรงค์ คองประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต  เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยให้มีเงินอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และช่วยกระตุ้นโดยเฉพาะในระยะสั้น  ถ้าประชาชนได้รับเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นำไปลงทุน ทำให้กระแสเงิน หมุนเวียนเข้ามาในตลาดมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน ดิจิทัลวอลเล็ต จะมีภาวะข้างเคียงอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องของวินัยทางการเงิน เพราะเอาเงินไปให้ชาวบ้าน โดยไม่ได้สร้างวินัยทางการเงินที่ดี แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์นี้  ในมิติหนึ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องเติมเงินเข้ามา เพื่อให้หมุนเวียนได้ก่อน ถ้าโชคดีเงินที่เติมเข้ามาเป็นส่วนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แล้วเครื่องติดขึ้นมาจะเป็นโอกาสในก้าวต่อไป แต่ถ้าระยะสั้นเติมไปแล้ว ถ้าไม่กระตุ้นก็เป็นเรื่องที่เหนื่อย

ส่วนประเด็นที่ต้องการจูงใจให้กับร้านค้าที่ไม่ได้เข้าระบบภาษี ให้เข้ามาอยู่ในโครงการนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลประชาสัมพันธ์มากน้อยเพียงใด  ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรในการทำความเข้าใจกับร้านค้า ส่วนมากร้านค้าจะกลัวถ้าเข้ามาในระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย มีปัญหาการจัดทำงบการเงิน เพราะไม่เข้าใจการทำบัญชีเท่าที่ควร เวลาภาครัฐหรือกรมสรรพากรไปตรวจจึงกลัว เพราะเบี้ยปรับเงินเพิ่มค่อนข้างสูง เมื่อไม่อยากมีปัญหาจึงไม่เข้าร่วม ภาครัฐต้องอธิบาย การทำบัญชีอย่างง่ายและเป็นที่ยอมรับทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการร้านค้ารายเล็กและรายย่อย