วันที่ 2 พ.ค.67 ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงความกังวลต่อการดำเนิน นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่าน ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลว่า ค่อนข้างมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์การคลังของไทยหลังจากนั้น เพราะหากไม่สามารถออกแบบให้เกิดการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ จะยิ่งทำให้งบประมาณของประเทศอยู่ในสภาวะขาดดุลสูงอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่ความอ่อนแอของวินัยการคลัง ที่อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ อันเป็นเครื่องยนต์สำคัญตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในขณะที่การส่งออกของไทยกำลังมีปัญหา โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งต้องรอดูว่าปลายปี 2567 นี้จะขยายตัวได้หรือไม่
“ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งเดียว ซึ่งรัฐบาลก็ประมาณการออกมาว่าจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 1% กว่าๆ ของ GDP แต่ประเด็นสำคัญคือจะทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตในระยะยาวได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากของรัฐบาล เพราะไม่งั้นก็แค่กระตุ้นในระยะสั้น ที่ไม่ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพียงพอในการนำมาใช้คืนหนี้เงินกู้ในอนาคตได้” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องด้วยนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า และล่าสุดจากการเปิดเผยว่าจะมีการนำงบประมาณมาจาก 3 ส่วน เพื่อใช้สำหรับดำเนินการ ที่ประกอบด้วย 1. งบประมาณ ปี 2567 จำนวน 1.75 แสนล้านบาท 2. งบประมาณ ปี 2568 จำนวน 1.52 แสนล้านบาท และ 3. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ ซึ่งตามที่รัฐบาลระบุก็คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1.72 แสนล้านบาทนั้น ล้วนส่งผลกระทบต่อการคลังของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวต่อไปว่า อย่างงบประมาณปี 2567 ก็ต้องดูว่าทางรัฐบาลมีการดึงงบประมาณจากส่วนไหนมาบ้าง ซึ่งอาจจะไปเบียดบังงบประมาณเดิมที่จริงๆ แล้วมีการจัดสรรไว้เพื่อดำเนินโครงการที่มีความจำเป็นต่างๆ เหล่านั้นให้น้อยลง นอกจากนั้น โครงการดังกล่าวอาจเกิดผลกระทบเบียดออก (Crowding out effect) ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น จากการเร่งระดมทรัพยากรการเงินของภาครัฐ
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวอีกว่า ในส่วนงบประมาณปี 2568 ที่เป็นการขยายวงเงินงบประมาณรายจ่าย ขณะที่ประมาณการรายได้ยังคงเดิม ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้น จะไปซ้ำเติมภาระทางการคลังที่มีอยู่แล้ว จากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลมาเกือบ 30 ปีให้มีความมากขึ้นไปอีก
สำหรับก้อนสุดท้ายจาก ธ.ก.ส. ที่จะอิงกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ในมาตรา 28 ที่ระบุไว้ว่ารัฐบาลสามารถมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ เช่น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ดำเนินกิจกรรมมาตรการหรือโครงการได้ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้นให้ในภายหลัง ซึ่งที่ผ่านมาโครงการที่ใช้จ่ายตามมาตรา 28 นี้ก็มีค่อนข้างมากอยู่แล้ว และมีหนี้ที่เป็นภาระผูกพันสูงมากด้วย
ดังนั้นถ้ามีการนำไปใช้เพิ่มจากโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตผ่าน ธ.ก.ส. อีกอาจจะทำให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่าย แตะหรือเกินเพดานที่กำหนดไว้ว่า ภาระที่รัฐต้องชดเชยดังกล่าว ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และหนี้ที่เป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยแก่ ธ.ก.ส. จะสูงกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งอาจทำให้หลายโครงการที่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรหรือผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ผ่านหน่วยงานของรัฐ ถูกชะลอไปก่อนด้วย
“หนี้ผูกพันตามมาตรา 28 นี้ ไม่ได้ถูกรายงานรวมในหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่มันแฝงอยู่ และไทยยังมีความเสี่ยงทางการคลังที่ดำเนินงานในส่วนอื่นๆ อีก เช่น เงินกองทุนประกันสังคมที่ปรับตัวลดลง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิก็ติดลบ” ผศ.ดร.ดวงมณี ระบุ
ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวว่า นอกจากผลกระทบที่กล่าวมาแล้ว การดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตยังอาจทำให้หนี้สาธารณะคงค้างในอนาคตของไทยพุ่งเกินกรอบวินัยการเงินการคลัง คือ เกินกว่า 70% ของ GDP ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเมื่อ 30 ก.ย. 2566 หนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 11.13 ล้านล้านบาทแล้ว หรือ คิดเป็น 62.44% ของ GDP หลังการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะไปที่ประมาณ 67% ของ GDP เข้าใกล้เพดาน 70% โดยถ้าไปถึงจุดนั้นก็จะกระทบต่อวินัยทางการคลังของรัฐบาลที่ต้องชำระหนี้ในระยะยาว
รวมถึงปัจจุบันรัฐบาลก็ยังไม่สามารถหาเม็ดเงินจากรายได้เพิ่มเติมที่มีนัยยะสำคัญเพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้หนี้เงินกู้ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ นอกจากนั้นยังไม่เห็นว่ารัฐบาลมีแผนหรือนโยบายที่ชัดเจน สำหรับการทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ และลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ หรือที่ไม่จำเป็นลง
“Worst-case scenario ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้คือ หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในระยะอันใกล้นี้ จะทำให้งบประมาณของประเทศมีความตึงตัวมาก เพราะไม่รู้ว่าจะสามารถกู้เพิ่มได้อีกแค่ไหน เพราะช่วงโควิดไทยเราก็ไปขยายกรอบวินัยการเงินการคลังแล้วรอบหนึ่ง ให้สามารถมีหนี้สาธารณะได้มากถึง 70% ของ GDP ฉะนั้นถ้าเกิดวิกฤตอีกจะไปเพิ่มแรงกดดันในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่วิกฤตฉุกเฉินจริงๆ เช่น วิกฤตที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ความผันผวนของตลาดการเงินโลก หรือโรคระบาดเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นต้น” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว
ผศ.ดร.ดวงมณี ทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจริงๆ แล้วยังมีการใช้งบประมาณในลักษณะอื่นที่สามารถทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ เช่น นำเงินไปใช้ในโครงการที่สามารถยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว หรือทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เข้าถึงประชาชนได้เช่นเดียวกัน เช่น การจ่ายเงินชดเชยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากการสูญเสียรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะในปี 2563, 2564 และ 2566 รัฐบาลมีการลดภาษีที่ดินฯ 90% และ 15% ซึ่งทำให้ อปท. รายได้หายไปกว่า 7หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ภายหลังจะมีการชดเชยไปแล้วบางส่วน แต่ก็ยังขาดอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้ทันที
ทั้งนี้ ถ้านำงบประมาณที่จะไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตส่วนหนึ่ง มาคืนให้กับ อปท. ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด อปท. ก็จะสามารถนำไปใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน พัฒนาคน และพื้นที่ในท้องถิ่นได้ค่อนข้างตรงจุด รวมถึงส่งผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลยืนยันจะให้มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็อยากจะฝากรัฐบาลให้คำนึงถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1. เน้นร้านค้ารายย่อยในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในเศรษฐกิจท้องถิ่น ดังนั้นการกำหนดว่า ร้านค้าประเภทไหนเป็นร้านค้ารายย่อยจึงเป็นประเด็นสำคัญ 2. ข้อกำหนดต่างๆ และเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ต้องทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยและร้านค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงได้จริง ไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าโครงการ
3. สินค้าที่อยู่ในโครงการควรเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ และ 4. ปลายทางเม็ดเงินควรมีการกระจายให้อยู่ที่ประชาชนในระดับล่าง ไม่กระจุกอยู่กับกลุ่มที่มีความมั่งคั่งอยู่แล้ว ซึ่งจะได้ไม่ไปซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก