“ทศพล เพ็งส้ม” กางแผนดัน “นิคมฯดาต้าเซ็นเตอร์” ปั้นไทยสู่ฮับดิจิทัล

08 พ.ค. 2567 | 12:20 น.

สัมภาษณ์พิเศษ “ทศพล เพ็งส้ม” สมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย กางแผนขับเคลื่อนการทำงาน ดัน “นิคมฯดาต้าเซ็นเตอร์” ปั้นไทยสู่การเป็นฮับดิจิทัลอาเซียน พร้อมเดินทางพบรัฐบาล

KEY

POINTS

  • สมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย กางแผนขับเคลื่อนการทำงาน ตั้งเป้าหมายผลักดันประเทศไทยสู่ “ฮับดิจิทัล” ในด้านดาต้าเซ็นเตอร์อาเซียนใน 3 ปี
  • ประเมินตลาดธุรกิจ “ดาต้าเซ็นเตอร์” ปัจจุบัน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) เติบโตที่สุดกว่า 19.1% ไทยอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน 
  • นายกสมาคมดาต้าเซ็นเตอร์ฯ เตรียมพบปะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันผลักดันดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย รวมทั้งนำเสนอแนวทางข้อเสนอแนะ
  • เล็งเสนอหน่วยงานและรัฐบาลผลักดันให้ประเทศไทยเกิด “นิคมอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์” เป็นการเฉพาะ รองรับนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
     

สมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย (Thailand Data Centre Council หรือ TDCC) เกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบกิจการดาต้าเซ็นเตอร์และพันธมิตรในประเทศ เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา แม้ตอนนี้ขั้นตอนการจดทะเบียนตั้งสมาคมยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ 

แต่แผนงานการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม “ดาต้าเซ็นเตอร์” ของประเทศ และการรวบรวมพันธมิตรต่าง ๆ ได้ถูกกำหนดเอาไว้เป็นแผนงานที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว โดยมีเป้าหมายสำคัญ นั่นคือ การผลักดันประเทศไทยสู่ “ฮับดิจิทัล” ในด้านดาต้าเซ็นเตอร์ของอาเซียนอย่างแท้จริง ภายใน 3 ปี 

ฐานเศรษฐกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ หนึ่งในคีย์แมนสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ นั่นคือ “ทศพล เพ็งส้ม” นายกสมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า เป้าหมายหลักของสมาคมฯ คือ เสนอแนวทางแก้ปัญหาด้านกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ให้เป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญของประเทศ และสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลขึ้นในประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ที่สำคัญคือ การรักษาข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นของคนไทย และของประเทศไทย ต้องอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่ไปฝากไว้ในต่างประเทศ และสามารถพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในอนาคต

 

“ทศพล เพ็งส้ม” นายกสมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย

ทั่วโลกให้ความสำคัญ “ดาต้าเซ็นเตอร์”

เขาฉายภาพของอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ให้เห็นว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการบริหารข้อมูล โดย “ดาต้าเซ็นเตอร์” ถือว่าเป็น ศูนย์ข้อมูล เป็นสถานที่รองรับฮาร์ดแวร์หรือเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่ในการจัดเก็บคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายต่าง ๆ 

พร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงระบบคอมพิวเตอร์ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า แหล่งจ่ายไฟสํารอง  ระบบระบายความร้อน ระบบปรับอากาศ เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อธุรกิจดิจิทัลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จึงเกิดความต้องการใช้ข้อมูลจำนวนมาก “ดาต้าเซ็นเตอร์” จึงมีความจำเป็นในการจัดเก็บและรักษาข้อมูล และเปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ธุรกิจดิจิทัลสามารถเติบโตได้

สำหรับตลาดธุรกิจ “ดาต้าเซ็นเตอร์” ณ ปัจจุบัน นายกฯทศพล ระบุว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาในภาพรวมทั่วโลกมีการเติบโตเฉลี่ย 16.6% โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) เติบโตที่สุดกว่า 19.1% ในส่วนของภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีขนาดดาต้าเซ็นเตอร์อยู่อันดับ 3 ของอาเซียน และมีแนวโน้มขยายตัวสูงจากความต้องการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของผู้ประกอบการระดับโลกและท้องถิ่น

ทิศทางดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยสดใส

“ทศพล” กล่าวว่า การเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศไทย เกิดจากปัจจัยในหลายๆ ด้าน เช่น ความเสถียรและการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นรองเพียงสิงคโปร์, โอกาสเกิดภัยพิบัติต่ำ โดยไทยอยู่ห่างจากจุดภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหวรุนแรง, ความพร้อมด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะไฟฟ้าและนําที่มีความเสถียรและมีปริมาณเพียงพอ รวมทั้งยังมีพื้นที่มากและราคาที่ดินไม่แพง

อีกทั้งยังมีโอกาสขยายตลาดในไทยได้อีกมาก เนื่องจากไทยมีธุรกิจที่ปรับใช้ดิจิทัลมากขึ้น แต่ยังมีดาต้าเซ็นเตอร์น้อย เห็นได้จากสัดส่วนกําลังการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ต่อประชากร 1 ล้านคนของไทยอยู่ที่ 1.1 เมกะวัตต์ ยังน้อยกว่า ค่าเฉลี่ยในอาเซียนที่ 5.0 เมกะวัตต์ ซึ่งรายได้ของธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ โดยรวมคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ย 19-20% ในปี 2568

ทั้งนี้ประเมินว่า ในช่วงปี 2567-2570 ตลาดบริการดาต้าเซ็นเตอร์ไทยคาดการณ์เติบโตเฉลี่ยที่ 31.2% ต่อปี เทียบการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยจะมีมูลค่ากว่า 7.8 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็น 1.1% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของภูมิภาคที่ 14.8% 

แต่อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังเป็นรองมาเลเซียที่มีการคาดการณ์ขยายตัวสูงถึง 36.8% ต่อปี และมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าไทยประมาณ 3 เท่า เกิดจากความได้เปรียบไทยในหลายด้าน ทั้งด้านอัตราค่าไฟฟ้า จำนวนสายเคเบิลใต้น้ำที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างภูมิภาค และสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และมาตราการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

โดยประเทศไทยยังต้องพัฒนาในอีกหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศในภูมิภาคได้ โดยเฉพาะการพัฒนาในเชิงนโยบายและกฎหมาย ที่รัฐบาลไทยมีศักยภาพสามารถทำให้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้ด้วย

 

“ทศพล เพ็งส้ม” กางแผนดัน “นิคมฯดาต้าเซ็นเตอร์” ปั้นไทยสู่ฮับดิจิทัล

 

กลไกรัฐบาลต้องร่วมสนับสนุน

“ทศพล” ยอมรับว่า ในขณะนี้ประเทศไทยยังต้องการแรงหนุนจากหลายฝ่ายช่วยกัน โดยเฉพาะกลไกของรัฐบาล ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนให้อุตสาหกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีแค่การลงทุนจากภาคเอกชนไม่กี่ราย ทั้งที่ศักยภาพของประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบ ทั้งสถานที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลาง สามารถเชื่อมต่อไปยังหลายประเทศไทยสะดวก แต่ยังติดปัญหาบางประการเกี่ยวกับนโยบายรัฐเท่านั้น

สำหรับแนวนโยบายรัฐที่จะเป็นข้อต่อสำคัญในการขับเคลื่อนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยให้เกิดผลอย่างชัดเจนนั้น ถ้าแยกเป้นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีเรื่องที่รัฐบาลควรผลักดัน ดังนี้ 

ระยะสั้น : รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบกิจการคลาวด์ และ AI ภายในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ โดยการออกนโยบายลดต้นทุนด้านพลังงานปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และลดภาระค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับใบอนุญาตต่างๆ ที่เกินสมควร

ระยะกลาง : รัฐบาลควรสร้างนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศ 

ระยะยาว : รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามแนวทางการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญสำหรับการลงทุนในระยะยาว

 

“ทศพล เพ็งส้ม” กางแผนดัน “นิคมฯดาต้าเซ็นเตอร์” ปั้นไทยสู่ฮับดิจิทัล

 

ชงรัฐตั้งนิคมฯดาต้าเซ็นเตอร์

นายกสมาคมดาต้าเซ็นเตอร์ฯ ระบุว่า แผนการทำงานในช่วงต่อจากนี้ สมาคมเตรียมเดินสายหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแนะนำตัวเอง และหารือถึงแนวทางการผลักดันดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย รวมทั้งมีข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนและอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ เช่น การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูง

อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือ ทางสมาคมจะหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเข้าโอกาสเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันให้เกิด “นิคมอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์” เป็นการเฉพาะ เพื่อรองรับการลงทุนด้านนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

นั่นเพราะการทีมีดาต้าเซ็นเตอร์ตั้งอยู่ในประเทศไทย จะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยเข้มแข็งขึ้น และช่วยเก็บรักษาข้อมูลทีอ่อนไหวไว้ในประเทศ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และการเติบโตของธุรกิจอื่น ๆ ในห่วง โซ่อุปทาน ทั้งการก่อสร้างอาคาร การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงธุรกิจบริการด้านไอที และธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์กรต่างๆ ในประเทศเริ่มมีการ Digital Transformation มากยิ่งขึ้น ประกอบกับการเติบโตของนวัตกรรม AI ทั่วโลก โดยเฉพาะการที่ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกมาลงทุนในประเทศไทย จะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจไทยเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถประมวลผลข้อมูลบนคลาวด์ได้เร็วขึ้นถึง 10 เท่า

“การตั้งนิคมอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ โดยภาครัฐให้การสนับสนุน เพราะตอนนี้เอกชนหลายประเทศทั่วโลก สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หากรัฐบาลมีแนวทางการส่งเสริม มีการจัดเตรียมพื้นที่ที่ชัดเจน และมีสิทธิประโยชน์รองรับแล้ว การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับในด้านนี้ก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน และจะไม่ให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในช่วงนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย” นายกสมาคมดาต้าเซ็นเตอร์ฯ กล่าวทิ้งท้าย