การจับคู่ธุรกิจข้ามชาติ

19 พ.ค. 2567 | 20:55 น.

การจับคู่ธุรกิจข้ามชาติ คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีสำนักข่าวของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง มาสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันของเมียนมา ซึ่งการสัมภาษณ์ของเขาก่อนที่จะเสร็จสิ้นลง เขาก็เอาหนังสือพิมพ์เมียนมา ที่มาสัมภาษณ์ผมไปลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ออกมาโชว์ให้ผมดู และบอกว่าได้ติดตามผมมาโดยตลอด รวมทั้งเขารู้สึกแปลกใจว่า ทำไมผู้ประกอบการไทย ยังคงสามารถอดทนและอยู่รอดได้กับสถานการณ์ในเมียนมา  

อีกทั้งเขายังได้สอบถามผมถึงผลกระทบต่อธุรกิจของผมในเมียนมาว่ามีผลมากมั้ย? ผมก็ตอบไปว่าทุกคนต่างก็ได้มีผลกระทบอย่างแน่นอน อยู่ที่แต่ละคนจะรู้จักปรับผลที่ได้รับไปในทิศทางไหน? หรือบางคนที่เป็นผู้ประกอบการไทย ที่เขาอยู่ในนั้นมานาน จนมีความเคยชินและเชี่ยวชาญกับสถานการณ์เกือบทุกรูปแบบ ทำให้ไม่รู้สึกแปลกใจในสถานการณ์เช่นนี้ก็มีเช่นกัน เขาจึงบอกว่า สำหรับผู้ประกอบการญี่ปุ่นแล้ว ส่วนใหญ่จะยังรับมือกับสถานการณ์เช่นที่ผ่านมาไม่ได้ ก็จะถอนตัวยอมขาดทุนป่นปี้ไปเลยก็มี 
         
 

ผมก็ได้บอกเขาไปว่า การลงทุนในต่างแดนย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในประเทศของตนเอง แน่นอนว่าผู้ประกอบการไทยเรา ก็มีหลายระดับชั้น บ้างก็มาจากบริษัท SME บ้างก็มาจากบริษัทระดับใหญ่ในประเทศไทยก็มี ทุกคนล้วนมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของผู้ประกอบการบางรายที่มีสายป่านยาว ก็สามารถทนอยู่ได้ บางบริษัทก็ไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงตรงนี้ได้ สิ่งนี้เป็นสัจธรรม ที่เป็นเรื่องของ “นานาจิตตัง” เราจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ 
        
โดยส่วนตัวผม ผมก็ยังคิดว่า ด้วยอายุผมก็ย่างเข้าเลขเจ็ดสิบไปแล้ว การที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง มันเป็นเรื่องที่ยากเย็นเข็ญใจจริงๆ อีกทั้งผมก็ลงทุนไปค่อนข้างจะเยอะ การที่จะถอยหรือถอนตัวยกยวงกลับประเทศไทย โดยยอมตัดขาดทุนทิ้งทุกอย่างนั้น มันก็ยากที่จะตัดสินใจเช่นนั้นได้เช่นกัน ผมจึงต้องอดทนและรอวันที่จะเห็นแสงสว่างใหม่อีกครั้ง เขาจึงถามต่อไปอีกว่า “ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่น คุณจะคิดอย่างไร?” ผมก็ตอบไปว่า ผู้ประกอบการญี่ปุ่นส่วนใหญ่ “ความมีใจสู้” จะไม่สามารถเทียบเท่ากับผู้ประกอบการไทย ต้องขออภัยที่จะพูดความจริงว่า ผู้ประกอบการหลายๆ ชาติ พอได้ยินเสียงปืน ก็วิ่งหนีเอาตัวรอดไว้ก่อนแล้ว ในขณะที่คนไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น คนไทยเมื่อได้ยินเสียงปืน ก็จะวิ่งเหมือนกัน แต่วิ่งเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น จนกลายเป็น “ไทยมุง” นี่คือวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์พิเศษของคนไทย 
 

แต่ถ้าจะมองกันให้ลึกลงไปมากกว่านั้น ประเทศไทยเรามีพรมแดนติดอยู่กับประเทศเมียนมา ยาวถึงสองพันสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร วัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่มีความคล้ายคลึงกันมาก ตามตะเข็บชายแดนของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งชายแดนไทย ก็ยังมีชาวเมียนมาที่ตกค้างหลงเหลืออยู่มาก ในฝั่งเมียนมาเองก็เช่นเดียวกัน บางหมู่บ้านในรัฐฉานหรือรัฐกระเหรี่ยง ก็ยังมีหมู่บ้านชาวไทยตกค้างมาตั้งแต่ยุคสงครามในอดีตอยู่เช่นเดียวกัน ดังนั้นการรับรู้ถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของทั้งสองประเทศ ยังคงแยกกันไม่ออกอยู่ดี เขาถามต่อไปว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณคิดว่าความได้เปรียบที่มีมากกว่าประเทศอื่นของไทย จะสามารถทำอะไรได้บ้างในยุคปัจจุบันนี้” 

ผมจึงโยนไปว่า ถ้าผมเป็นคนญี่ปุ่น ที่อยากจะไปลงทุนในเมียนมา ในยุคก่อนหน้านี้ ก็มีบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทยอยู่เยอะมาก แต่เวลาบริษัทเหล่านั้น เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านไทย ก็ลืมไปว่าคุณยังมีหุ้นส่วนทางธุรกิจอยู่ในประเทศไทยที่เป็นคนไทยอยู่ แล้วคุณก็ไปลงทุนเองตามลำพังเลย โดยที่ไม่ได้หนีบเอาหุ้นส่วนไทยไปด้วย พอเกิดปัญหาที่ไม่สามารถคาดคิดได้ คุณก็จะโดดเดี่ยวเดียวดาย ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยเรา ยังสามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อเนื่องได้อยู่ นี่คือความแตกต่างระหว่างความคิดทางธุรกิจของคนไทยกับญี่ปุ่นนั่นเอง
         
ในปลายปี 2022 ก่อนที่ทางการเมียนมาจะประกาศให้ควบคุมเงินตราระหว่างประเทศ และออกมาตรการการใช้การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร(Non-Tariff Barriers) ออกมาใช้ ท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ได้ออกมาตรการประกาศให้การค้าชายแดนประเทศจีน-เมียนมา สามารถใช้นโยบายหยวน-จ๊าด (Local-Currency) ในการทำธุรกรรมทางการเงินได้ ต่อมาในเดือนมกราคมของปี 2023 ก็มีการประกาศให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมา ได้ใช้ Local-Currency หรือบาท-จ๊าดด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นในเวลาต่อมา แม้ประเทศเมียนมาจะประสบกับสภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อันมีผลต่อเนื่องจากการที่เขามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ ผู้ประกอบการไทยก็ยังคงสามารถทำธุรกิจกับเขาได้ ไม่มีปัญหาเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา การจับคู่ธุรกิจ เราต้องมองกันยาวๆ อย่ามองแต่เพียงระยะสั้นเบื้องหน้าเท่านั้น โดยความเป็นจริง ปัจจุบันนี้ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของประเทศเมียนมา ก็จะมีไทย จีน อีนเดียและบังกลาเทศเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้คู่ธุรกิจที่ญี่ปุ่นควรจะจับคู่ด้วย แน่นอนครับว่า น่าจะเป็นประเทศไทยนี่แหละครับ  
          
ในความคิดของผม ซึ่งผมจะเป็นคนที่ไม่เคยทอดทิ้งเพื่อนในเวลาได้ดี ผมมักจะต้องหนีบเอาเพื่อนร่วมธุรกิจ เข้ามาร่วมด้วยเสมอ ซึ่งในสายตาของคนทั่วไป มักจะมองว่านี่เป็นการไม่ฉลาดเอาเสียเลย เพราะทำไมต้องแบ่งปันผลกำไรที่มีอยู่ต่อหน้าไปให้เพื่อนที่เขาไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย แต่ในฐานะของความเป็น “เพื่อน” ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ดีเราก็จะไม่ทิ้งกัน เมื่อเวลาที่เลวร้ายเพื่อนก็จะไม่ทิ้งเราครับ