9 พฤษภาคม 2567 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง ความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทนั้นว่า ขั้นตอนของการปรับค่าจ้างขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและศึกษาข้อมูล
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละจังหวัดซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐาน ภายใต้อำนาจของไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล
นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผลในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผ่านกลไกระบบไตรภาคี โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง
ในส่วนของความกังวลใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงแรงงานจะมีการรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการว่ากิจการประเภทไหนได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เนื่องจากแรงงานได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอมาตรการความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี จะพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อมาคณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่องพื้นที่ 10 จังหวัดในกิจการประเภทโรงแรม ระดับ 4 ดาว และมีลูกจ้างแต่ 50 คนขึ้นไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 โดยจังหวัดภูเก็ตขึ้นทั้งจังหวัด
ส่วนอีก 9 จังหวัดขึ้นบางพื้นที่ คือ 1.กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2.กระบี่ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3.ชลบุรี เขตเมืองพัทยา 4.เชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5.ประจวบคีรีขันธ์ เขตเทศบาลหัวหิน
6.พังงา เขตเทศบาลตำบลคึกคัก 7.ระยอง เขตตำบลบ้านเพ 8.สงขลา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และ 9.สุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย