วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายนโยบายให้ทีมพาณิชย์ ซึ่งมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทำการสำรวจโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดได้รับรายงานจากนายประคัลร์ กอดำรง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ถึงความกังวลเรื่องภาวะโลกร้อน และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร และโอกาสในการส่งออกสินค้าประเภทแป้งของไทย หากสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคก็จะสามารถเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทยได้มากขึ้น
โดยปัจจุบันผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใสในการจัดหาส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในการผลิตสินค้าทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมไปจนถึงส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์
ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ อาหารจากธรรมชาติ รวมถึงมีความสนใจต่อประเด็นเรื่องพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจของบริษัท Neilson พบว่า 76% ของผู้บริโภคต้องการให้ผู้ผลิตเริ่มโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสมาคม RSPCA Assured สำรวจ พบว่า 2 ใน 3 ของผู้บริโภคต้องการทราบที่มาของอาหารสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ นอกจากอังกฤษผู้บริโภคในยุโรปก็ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน จากการศึกษาของบริษัทผู้ผลิตเครื่องเทศรายใหญ่ Tate & Lyle’s พบว่า 74% ของผู้บริโภคเห็นว่าความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับสำคัญต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้า ประเด็นเรื่องความตื่นตัวของปัญหาโลกร้อนผู้บริโภคกำลังส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารได้มีการปรับตัวต่อเรื่องนี้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน ใช้ส่วนประกอบที่เป็นธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งและไม่มีสารเคมี รวมถึงผู้ผลิตที่มี Carbon Footprint ต่ำ
ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภค ส่วนประกอบสำคัญสำหรับอาหาร เช่น แป้ง เป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการผลิต และสินค้าที่จะช่วยในเรื่องการคงตัว และรสสัมผัสของสินค้า เป็นส่วนประกอบหลักในผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่จะส่งผลต่อ Carbon Footprint ของอาหารได้
“ในปี 2566 ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรมีการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังจากไทยมากถึง 6.82 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 68.98% ของตลาดในสหราชอาณาจักร
จากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรพบว่าให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ความเป็นสีเขียวของทั้งห่วงโซ่การผลิตสินค้ามากขึ้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะสินค้าแป้งมันสำปะหลัง อาจต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค และผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของไทยอาจต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต และการใช้ตรารับรองที่สื่อถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้คำแนะนำและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแป้งของไทยปรับตัว และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้ว เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศต่อไป”นายภูมิธรรมกล่าว