การส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2567 ลดลง 10.9 % เป็นการกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนหลังจากที่ก่อนหน้านี้ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงมากในปีก่อน และเมื่อรวม 3 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.2 %
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคาร กรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มของภาคการส่งออก ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อการทบทวนตัวเลขประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2567 ซึ่งศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มีความเห็นสอดคล้องกับรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook: WEO)ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ทั้งนี้รายงาน WEO ฉบับเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จากเดิม 3.1% เป็น 3.2% แต่ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีแท้จริง (Real GDP) ของไทยเหลือจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4.4% เหลือเพียง 2.7% ทั้งที่ตัวเลขคาดการณ์เดิม 4.4% นั้นเป็นการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ใหม่จาก 3.6% ในช่วงเดือนมกราคมต้นปีนี้ เนื่องจากไอเอ็มเอฟประเมินว่า แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศในปีนี้ไม่ดีเท่าที่ได้มองไว้ในเดือนมกราคม
โดยเฉพาะการส่งออกของประเทศ Emerging Market ไปยังทั่วโลกมีแนวโน้มการเติบโตน้อยกว่า คาดจากเดิม เหตุผลหลักคือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่น่าจะทำให้ ทั้งในตะวันออกกลางเองและยุโรปนำเข้าหรือส่งออกสินค้าน้อยลง ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา การส่งออกของไทยอาจจะเติบโตไม่ได้มากเท่าที่คาดไว้เดิม
นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกแล้ว ยังมีปัจจัยภายในของไทยเอง โดยเฉพาะจากภัยแล้งที่ทำให้สินค้าภาคเกษตรมีผลผลิตน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น การส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การประเมินจีดีพีปรับตัวลดลง ขณะที่ถ้าดูเครื่องยนต์อื่นๆ จะใกล้เคียงเดิมที่รับทราบกันอยู่แล้วตั้งแต่ประมาณการเดิม เช่น การใช้งบประมาณของรัฐบาลที่ล่วงเลยมาซึ่งอาจจะมีการปรับลดลงอีกเล็กน้อย แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก
ในส่วนของศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เองอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขประมาณการจีดีพีเช่นกัน โดยอาจจะรายงานออกสู่สาธารณะก่อนหรือหลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1(ในวันที่ 20 พ.ค.นี้) โดยทิศทางของกรุงไทยคอมพาสจะเป็นการปรับลดประมาณการจีดีพีลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจจีนที่มีการชะลอตัวภายในประเทศจีนเอง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องนำสินค้าออกมาขายแข่งกับนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นในการแข่งขันตลาดโลกมากขึ้น โดยเป็นปัจจัยกดดัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการค้าชายแดนที่เกิดการสู้รบในเมียนมา โดยเฉพาะการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมามีสัดส่วนประมาณ 25%ของ 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า EIC มีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการจีดีพีลง สาเหตุเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีลักษณะ “เติบโตช้า เปราะบาง ไม่แน่นอน” ภายใต้ 3 องค์ประกอบ ได้แก่
ด้านดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ วิจัยกรุงศรี กล่าวว่า การเติบโตของ GDP ที่อาจต่ำกว่าคาดและต่ำกว่าระดับศักยภาพ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง (Structural factors) ที่บั่นทอนแต่ละเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ฉุดรั้งการบริโภค ปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันของหลายอุตสาหกรรมที่ฉุดรั้งการส่งออกไทยและการลงทุนของภาคเอกชน
จากการศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่า ประสิทธิภาพของแรงงานหรือ Labor productivity ของไทย หลังจากเกิดโควิด-19 ลดลง 1.6% ต่อปี (CACR) และลดลงชัดเจนในหลายภาคอุตสาหกรรม โดยยังไม่นับรวมปัญหาพื้นฐานอื่นๆ เช่น การขาดแคลนแรงงานหรือการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (aged society) ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตในระยะยาว
นอกจากนี้ ไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,992 วันที่ 16 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567