*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,993 ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** “ค่าแรงขั้นต่ำ” วันละ 400 บาท เรียบร้อยโรงเรียน “รัฐบาลเพื่อไทย” เมื่อวงประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบกับการกำหนดอัตรา “ค่าจ้างขั้นต่ำ” หรือ “ค่าแรงขั้นต่ำ” วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน บอกว่า จะหาทางผลักดันการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน โดยมีเป้าหมายการประกาศใช้ทั่วประเทศ ให้ได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ ซึ่งที่ประชุม ครม.สัญจร ก็ได้รับทราบรายละเอียดของไทม์ไลน์ตามที่เสนอ โดย “นายกรัฐมนตรี” ไม่ได้มีข้อสั่งการใดเป็นพิเศษ
*** สำหรับข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน ในการปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศนั้น เนื่องจากเห็นว่า สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพของผู้ใช้แรงงาน มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น หรือมีการปรับลดขนาด หรือ ปริมาณลง ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท จะเป็นการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันให้แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ
*** โดยกระทรวงแรงงานประเมินประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ดังนี้ 1.แรงงานมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.ผู้ประกอบการสามารถลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะจูงใจให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบการจ้างงานมากขึ้น 3.การเพิ่มค่าจ้างอาจหนุนการปรับโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม และสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วน ได้รับผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น 4.การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะสนับสนุนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากขึ้น
*** อย่างไรก็ตาม แม้การปรับขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” จะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานในการบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ในมุมมองของ “ภาคเอกชน-ผู้ประกอบการ” กลับมองเห็นโทษที่จะเกิดขึ้นกับการประกอบธุรกิจ โดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาชี้ว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต พร้อมเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ออกไปก่อน เนื่องจากภาคการผลิตยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.18 ล้านราย ยังไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
*** เกรียงไกร เธียรนุกุล ในประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน เช่น ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทย
*** ขณะที่ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน อย่าง สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ การปรับขึ้นค่าแรงกระจายรายได้สู่แรงงานทุกคน ก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
*** พรรคเพื่อไทยมีนโยบายผลักดัน “ค่าแรงขั้นต่ำ” ให้ไปอยู่ที่ 600 บาทต่อวัน ภายใน 4 ปี สมมติ ปี 2567 ค่าแรงขึ้นเป็น 400 บาททั่วประเทศ เวลารัฐบาลที่เหลืออีก 3 ปี ต้องขึ้นค่าแรงอีก 200 บาท ตกปีละ 66.6 บาท ก็จะเป็นดังนี้ ปี 2568 ค่าแรงขั้นต่ำเป็นประมาณ 466 บาท ปี 2569 เป็น 532 บาท และ ปี 2570 เป็น 600 บาท “รัฐบาลเพื่อไทย” จะทำให้ไปถึงเป้าตามที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่ มารอดูกัน...
***ระหว่างวันที่ 16-24 พ.ค.นี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะไม่อยู่ในประเทศเป็นเวลา 9 วัน เพราะต้องออกเดินปฏิบัติราชการยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค. ต่อด้วยการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ระหว่างวันที่ 17 - 21 พ.ค. ณ เมืองมิลาน และกรุงโรม ปิดท้ายที่การเข้าร่วมประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ... ระหว่างที่นายกฯ ไม่อยู่ในประเทศ คนที่จะรักษาการนายกรัฐมนตรี ก็คือ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นั่นเอง...
*** ปิดท้ายกันที่... ด้วยสมาคมชาวสงขลาได้จัดกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม ในวันอาทิตย์ ที่ 26 พฤษภาคม 2567 ณ ศาลา 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร โดยแบ่งเป็น ภาคเช้า ทำบุญเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 5 ปีแห่งการอสัญกรรม พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เริ่ม เวลา 10.00 น. (และมีรับบริจาคโลหิต ณ บริเวณเดียวกันด้วย ตั้งแต่ 8.00-11.00 น.) ส่วนภาคบ่าย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ของสมาคมชาวสงขลา และงานเชิดชูเกียรติคนดีศรีแผ่นดินครั้งที่ 2 (รางวัลเงือกทองคำ) ณ ชั้น 1 อาคาร 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร เวลาตั้งแต่ 12.30 น.เป็นต้นไป จึงขอเรียนเชิญ อดีตนายกสมาคมชาวสงขลา อดีตกรรมการบริหารสมาคม ที่ปรึกษาสมาคม ชาวสงขลาอาวุโส สมาชิกสมาคมชาวสงขลา และกัลยาณมิตรทุกท่านเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน