สศช.หั่น GDP ไทยทั้งปี 2567 เหลือแค่ 2-3% ไตรมาสแรกโตต่ำแค่ 1.5%

20 พ.ค. 2567 | 02:43 น.

สศช. แถลงตัวเลข GDP ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 รอบใหม่ จากเดิม 2.2-3.2% เหลือ 2-3% ค่ากลางแค่ 2.5% หลังจากตัวเลขไตรมาสแรก ขยายตัวต่ำ เพียง 1.5%

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยแถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% 

โดยมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7%

ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลง 2%

 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

  • อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.01% สูงกว่า 0.81% ในไตรมาสก่อนหน้าแต่ต่ำกว่า 1.05% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.8% 
  • อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% 
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (102.7 พันล้านบาท)
  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 223.4 พันล้านดอลลาร์
  • หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.4% ของ GDP

อย่างไรก็ตามแนวโน้มทั้งปี 2567 สศช. จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ใหม่ จากเดิมคาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.2-3.2% ลดลงเหลือ 2-3% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 2566

ทั้งนี้คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.1 - 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP

สำหรับรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี2567 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์สูง 7.1% ในปี 2566 ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัว 1.7% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 4.6% ในปี 2566 และเป็นการปรับเพิ่มจากการเพิ่มขึ้น 1.5% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาตามการใช้จ่ายภาครัฐ ภายหลังจากบประมาณปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้ และการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณปี 2568

2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัว 1.9% เร่งขึ้นจาก 1.2% ในปี 2566 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เท่ากับในปี 2566 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนและออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ขณะที่การลงทุนภาครัฐ คาดว่า จะลดลง 1.8% เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเป็นการลดลงต่อเนื่องจาก 4.6% ในปี 2566 เป็นผลมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2567 และกรอบวงเงินงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงจากปีก่อนหน้า

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ คาดว่าจะขยายตัว 2% เทียบกับการลดลง 1.7% ในปี 2566 และปรับลดลงจาก 2.9% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่า ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 1.5% ปรับลดลงจาก 2.4% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับตัวลดลงของปริมาณการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2567 และการปรับลดสมมุติฐานการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกจาก 3% ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 2.8% ในการประมาณการครั้งนี้ 

ทั้งนี้เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 4.7% เร่งขี้นจาก 2.1% ในปี 2566 แต่ต่ำกว่าการขยายตัว 5% ในการประมาณการครั้งก่อน

“เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังคงขยายตัวได้ แม้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกจะมีปัญหา แต่ในปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเทศทั้งภาคบริการ และการบริโภค ยังขยายตัวได้ดี ส่วนการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ ก้น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากงบประมาณ 2567 ออกมาแล้ว” เลขาฯ สศช. ระบุ